2023 ความท้าทายใหม่ของอุตสาหกรรมการผลิต มีอะไรบ้างที่ควรต้องโฟกัส

              ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ภาคธุรกิจมีศักยภาพและเติบโตไปอย่างก้าวกระโดดได้ และ Digital Transformation ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ในธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ดิจิทัลเทคโนโลยีถือเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยเสริมสร้างและพัฒนาระบบการทำงานทั้งหมดให้เกิดความแตกต่างอย่างเหนือชั้น และทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตก้าวผ่านทุกความท้าทายได้ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมการผลิตในปีนี้จะมีอะไรบ้าง และผู้ประกอบการควรจะต้องโฟกัสสิ่งใด เป็นไปในทิศทางไหน มาพบคำตอบกัน

บริหารจัดการทุกความผันแปรด้วยศักยภาพของดิจิทัลเทคโนโลยี

              ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงตนเองไปในหลายระดับ โดยสิ่งที่องค์กรภาคอุตสาหกรรมการผลิตโฟกัสมาตลอดเวลาก็คือ การนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับกระบวนการผลิต เพื่อให้ธุรกิจสามารถก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยสมบูรณ์ ซึ่งจะเห็นได้จากความตื่นตัวขององค์กรต่าง ๆ ในเรื่องของ Digital Transformation ที่องค์กรชั้นนำต่างมีการวางแผนปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ภายในองค์กรให้เอื้อต่อการผลิตแบบอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง และเพื่อรับมือกับเรื่องไม่คาดคิดต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจนกระทบกระบวนการผลิตอีก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยิ่งเร่งนำเอาเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงตนเองเป็น Smart Factory อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อความสามารถในการรับมือกับทุกวิกฤตความท้าทาย โดยบทบาทของเทคโนโลยีอัจฉริยะไม่เพียงแต่จะถูกนำมาใช้ในแง่ของการเพิ่มศักยภาพการผลิตเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการปัจจัยความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจอีกด้วย เทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากและยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตสามารถเผชิญหน้าและพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ก็คือ

              1. Machine Learning and AI รายงานจาก Deloitte ระบุว่า 80% ของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการผลิตในช่วงระยะ 12 เดือนที่ผ่านมา ต่างต้องเผชิญปัญหาความท้าทายด้านต้นทุนการผลิตที่ผันแปรและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา Deloitte คาดการณ์ว่าปัจจัยความผันแปรที่ไม่แน่นอนด้านต้นทุนนี้จะหนักหน่วงขึ้นในปี 2023[1] ซึ่ง Machine Learning และ AI จัดว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทอย่างมากในการช่วยภาคการผลิตในการรับมือกับปัญหาความท้าทายเหล่านี้ ในวันนี้ภาคการผลิตได้มีการปรับปรุงการผลิตด้วยเครื่องมือการผลิตที่เป็นอัตโนมัติและเป็น IoT แทบทุกส่วนในสายการผลิตแล้ว การส่งผ่านข้อมูลและการวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลจำนวนมากเพื่อการผลิตจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ Machine Learning และ AI จึงเป็นคำตอบของการวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้ และนั่นทำให้แม้จะต้องเผชิญปัญหาความไม่แน่นอนต่าง ๆ แต่กระบวนการผลิตก็ยังสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการก็สามารถบริหารจัดการในส่วนต่าง ๆ ทั้ง

  • สามารถปรับตัวไปกับสถานการณ์ตลาดและบริหารจัดการต้นทุนในระบบ Supply Chain ที่เพิ่มขึ้นได้ดีขึ้น
  • สามารถวางแผนสินค้าคงคลังได้ดีขึ้น

              ซึ่งการบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายและลงตัวมากขึ้นก็ช่วยทำให้ผู้ประกอบการควบคุมต้นทุนของธุรกิจให้อยู่ในกรอบได้ดีมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

[1] Deloitte, “2023 manufacturing industry outlook.”, From: https://www2.deloitte.com/us/en/pages/energy-and-resources/articles/manufacturing-industry-outlook.html

              2. Cloud System องค์กรภาคการผลิตชั้นนำหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) หรือระบบบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กรในรูปแบบแอปพลิเคชันที่ทำงานบน Cloud มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปรับปรุงการดำเนินงานของตนเอง อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ผลิตสามารถบริหารจัดการสินค้าคงคลังได้คล่องตัวมากขึ้น ลดเวลาในเรื่องการดำเนินงานด้านเอกสารที่ซับซ้อน ทำให้องค์กรสามารถโฟกัสไปที่เรื่องคุณภาพการผลิตที่เป็น Core Business ได้อย่างเต็มที่

              3. 3D Vision เป็นโซลูชันที่ภาคการผลิตระดับแนวหน้าอย่างการผลิตและประกอบยานยนต์ การผลิตอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ และการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม นำมาใช้ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี Robot ทั้งในแง่การตรวจสอบและติดตามคุณภาพในการผลิต ความถูกต้องในการผลิต ทำให้สินค้ามีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีมากขึ้น เป็นหนึ่งวิธีการที่ภาคการผลิตนำมาใช้เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรการผลิต เมื่อความผิดพลาดในการผลิตลดน้อยลงได้ ก็เท่ากับว่าช่วยประหยัดต้นทุนทางธุรกิจไปได้มากเลยนั่นเอง

              4. 5G Technology แกนกลางสำคัญที่จะทำให้ทุกเทคโนโลยีดิจิทัลที่กล่าวมาทั้งหมดขับเคลื่อนการทำงานไปได้ก็คือ เทคโนโลยี 5G ซึ่งจะช่วยทำให้ทุกอุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันได้ แต่การจะทำให้ 5G สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเป็นโครงข่ายที่เชื่อมทุกอุปกรณ์ในสายการผลิตให้ทำงานประสานกัน ภาคการผลิตก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการ Digital Transformation ให้ธุรกิจมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเชื่อมต่อ 5G ด้วยประสิทธิภาพการเชื่อมต่อที่เร็ว แรง และเสถียร ตรงนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตโฟกัสและให้ความสำคัญอย่างมากในปี 2023 นี้ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงการผลิตไปสู่ Smart Manufacturing สำเร็จได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะ เมื่อ 5G มาพร้อมกับศักยภาพของ Network Slicing https://business.ais.co.th/5g/network_slicing.html ซึ่งสามารถแบ่งการใช้งานเป็น Network เฉพาะ เพื่อการใช้งานในแต่ละประเภท ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และความปลอดภัย ของข้อมูลที่สูงขึ้น

ขยายขีดความสามารถ ขยับสู่ Smart Factory เต็มรูปแบบ

              ปัจจุบันองค์กรภาคอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่ได้ทำ Digital Transformation สำเร็จแล้ว จึงมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงระบบโรงงานการผลิตของตนเองให้กลายเป็น “โรงงานอัจฉริยะ” เพราะเหล่าผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างทราบดีว่า การผลิตนับจากปี 2023 นี้เป็นต้นไปจะต้องโฟกัสไปที่ “การผลิตที่ยั่งยืน” ภาพที่สะท้อนถึงความสำคัญในประเด็นนี้อย่างชัดเจนก็คือ บทสรุปของการประชุมสุดยอด COP27 อันเป็นเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติที่ว่าด้วยเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้เน้นย้ำถึงประเด็นที่ว่า นับจากนี้ไปภาคการผลิต จะต้องร่วมกันหาแนวทางการผลิตที่ยั่งยืน และจะต้องนำแนวทางนี้มาใช้ในระบบ Supply Chain ของธุรกิจด้วย นั่นหมายความว่าตั้งแต่ต้นน้ำของกระบวนการการผลิต ไปจนกระทั่งถึงปลายน้ำที่ผลิตภัณฑ์สำเร็จเกิดขึ้นและส่งออกไปยังตลาดแล้ว จะต้องไม่เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม หรือจะต้องส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

              ซึ่งการที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะสามารถ สร้างการผลิตที่ยั่งยืนได้ ปัจจัยสำคัญก็คือ ระบบการผลิตจะต้องมีศักยภาพสูง และแน่นอนเลยว่า สิ่งที่จะเข้ามาช่วยยกระดับและขยายขีดความสามารถในการผลิตก็คือ ดิจิทัลเทคโนโลยี ภาคการผลิตจะต้องบูรณาการเทคโนโลยีที่หลากหลายเข้ามาใช้ เพื่อเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นโรงงานอัจฉริยะ ถึงจะสามารถสร้างระบบการผลิตที่ยั่งยืนทั้ง Supply Chainได้ นี่จึงนับเป็นความท้าทายใหม่ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตในปี 2023 นี้

วันที่เผยแพร่ 26 เมษายน 2566

Reference

  1. Deloitte, “2023 manufacturing industry outlook.”, From: https://www2.deloitte.com/us/en/pages/energy-and-resources/articles/manufacturing-industry-outlook.html
  2. Jessica Hall, “The shift in CX behaviours: A look into the manufacturing industry.”, From: https://www.columbusglobal.com/en-gb/blog/the-shift-in-cx-behaviours-a-look-into-the-manufacturing-industry
  3. Ian Kingstone, “5 manufacturing industry trends to pay attention to in 2023.”, From: https://www.columbusglobal.com/en-gb/blog/5-manufacturing-industry-trends-to-pay-attention-to-in-2023#a1
  4. Levi Olmstead, “Digital Transformation in Manufacturing in 2023.”, From: https://whatfix.com/blog/digital-transformation-in-manufacturing/

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำโซลูชันที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ 

สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญจาก AIS Business เพื่อให้คำปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 
สำหรับรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ทันที