มองไปข้างหน้าสู่ปี 2023 กับเทคโนโลยีดิจิทัลที่องค์กรใหญ่ควรต้องจับตา

              ในช่วงที่ผ่านมาหลาย ๆ องค์กรได้มีการกำหนดแผนงานในการทำ Digital Transformation องค์กรกันไว้ ซึ่งในบางองค์กรธุรกิจที่มีการเตรียมความพร้อมไว้ก่อนหน้ามาสักระยะใหญ่ ๆ การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลก็อาจจะราบรื่น แต่สำหรับบางองค์กรก็อาจจะพบอุปสรรค ทำให้การเปลี่ยนแปลงสัมฤทธิผลเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็ต้องค่อย ๆ ก้าวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่ว่ากระบวนการ Digital Transformation ในธุรกิจของคุณจะสำเร็จลุล่วงหรือไม่ สิ่งสำคัญก็คือเวลาไม่เคยคอยท่า เราจึงจำเป็นที่จะต้องมองไปข้างหน้า แล้วก้าวเดินต่อไปให้ไว แนวโน้มทิศทางของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดกลยุทธ์การแข่งขันของอุตสาหกรรมสำคัญต่าง ๆ ในปี 2023 นี้และอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีถัดไป จะมีอะไรบ้าง มาวิเคราะห์และร่วมมองไปข้างหน้าพร้อม ๆ กันเลย

เทคโนโลยีด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ

              ในปี 2023 เรื่องของการนำเสนอโซลูชันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่เหนือระดับให้กับลูกค้าองค์กรจะกลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น และจะเป็นส่วนที่เข้ามามีบทบาทในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจในสาขาต่าง ๆ มากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นองค์กรชั้นนำจึงใส่ใจอย่างมากในเรื่อง Digital Transformation เพื่อเตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับการพัฒนาและการทดสอบโซลูชันใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มธุรกิจ โดยจะมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับองค์กร ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 เทคโนโลยี คือ

              1. เทคโนโลยี AI และระบบบริหารจัดการ AI (AI TRiSM) AI ยังคงเป็นเทคโนโลยีสำคัญและจะทวีความสำคัญมากขึ้นไปอีกตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป ในหลายธุรกิจสำคัญ ๆรวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมจะมีเทคโนโลยี AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างเลี่ยงไม่ได้ อาจเรียกได้ว่าจะมี AI อยู่ในทุกที่ Mr. Sundar Pichai ซีอีโอของ Google ถึงขนาดกล่าวว่า “AI อาจกลายเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าเปลวไฟหรือไฟฟ้าในไม่ช้านี้” เลยทีเดียว1 สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าปริมาณการใช้งานเทคโนโลยี AI จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และเนื่องด้วยการมีจำนวน AI ที่มากขึ้นทำให้จำเป็นจะต้องมีระบบที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการดูแลเทคโนโลยี AI อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งก็คือ เทคโนโลยี AI TRiSM นั่นเอง

              AI TRiSM เป็นคำที่ย่อมาจาก AI Trust, Risk and Security Management หรือการกำกับดูแลโมเดล AI ที่มีความน่าเชื่อถือ (Trust) ลดความเสี่ยง (Risk) และมีความปลอดภัย(Security) ในอีกไม่ช้าภายในองค์กรต่าง ๆ จะมี AI แทรกตัวเข้าไปอยู่ในทุกระบบ แม้ AI จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินงานได้อย่างสะดวกรวดเร็วก็จริง แต่หากมีจำนวนมากไปก็จะยากต่อการบริหารจัดการ อีกทั้งหากมองในมุมผู้บริโภคก็อาจทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการตรวจสอบได้ ดังนั้นองค์กรชั้นนำต่าง ๆ จึงวางแผนไว้ว่าจะนำ AI TRiSM เข้ามาใช้อย่างเต็มระบบภายในปี 2026

[1] Bernard Marr, “The 5 Biggest Technology Trends In 2023 Everyone Must Get Ready For Now”, From: https://www.forbes.com/sites/bernardmarr/2022/09/26/the-5-biggest-technology-trends-in-2023-everyone-must-get-ready-for-now/?sh=3d4eddc455d9

              2. เทคโนโลยีภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล (Digital Immune System) จากข้อมูลของ Check Point Research (CPR) ชี้ว่าอาชญากรไซเบอร์ยังมุ่งเป้าการคุกคามไปที่องค์กรในประเทศโซนเอเชีย โดยพบว่าในไตรมาสที่สามของปี 2022 องค์กรชั้นนำในเอเชียถูกคุกคามทางไซเบอร์เฉลี่ย 1,778 ครั้ง/สัปดาห์/องค์กร ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 21% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า และที่น่ากังวลก็คือ ธุรกิจอุตสาหกรรมในกลุ่ม Health Care เป็นเป้าหมายแรก ๆ ในการคุกคามของอาชญากรไซเบอร์ ข้อมูลของ Check Point Research พบว่าในไตรมาสที่สามของปี 2022 มี 1 ใน 42 องค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมในกลุ่ม Health Care ถูกคุกคามจาก Ransomware เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนหน้า นอกจากนั้นแล้วกลุ่มธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ก็ได้รับผลกระทบจาก Ransomware เพิ่มขึ้น 39% จากปีก่อนหน้าเช่นกัน

              เมื่อหันมามองในภาคอุตสาหกรรมการผลิตบ้าง ขณะที่ทุกองค์กรในภาคการผลิตกำลังมุ่งความสนใจไปที่ประโยชน์และความสามารถของ AI, Machine Learning รวมไปถึงความสามารถของระบบ Automation ต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรมที่เป็น IoT เต็มรูปแบบ แต่ใครจะรู้ว่าบ้างว่าความสามารถของเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ก็กำลังเปิดช่องให้การคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบ Ransomware และ Phishing แพร่หลายได้มากขึ้น อาชญากรไซเบอร์สามารถสร้างชุดข้อมูลใหม่ให้ AI และนำความฉลาดของ AI ย้อนกลับมาโจมตีสร้างภัยคุกคามต่อองค์กร ด้วยเหตุนี้เทคโนโลยีภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล ที่จะมีการผสมผสานวิศวกรรมซอฟต์แวร์ในเชิงกลยุทธ์ที่หลากหลาย รวมไปถึงผสานการทำงานกับเครือข่าย 5G Private Network ที่เสมือนเป็นเครือข่ายส่วนตัว มาใช้กับการเชื่อมต่อของระบบอุปกรณ์ IoT ต่าง ๆ ในการผลิตเพื่อให้อุปกรณ์ต่าง ๆ มีความสามารถในการสังเกตการณ์ความเสี่ยงจากการรุกรานทางไซเบอร์ที่หลากหลายและสามารถทำการจัดการความเสี่ยงนั้น ๆ ได้อย่างอัตโนมัติ โดยทาง Gartner คาดการณ์ว่าผลสัมฤทธิ์ในเชิงบวกสำหรับองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ที่ได้ลงทุนพัฒนาและใช้เทคโนโลยีนี้ จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนภายในปี 2025

[2] Check Point Research, “Third quarter of 2022 reveals increase in cyberattacks and unexpected developments in global trends”, From: https://blog.checkpoint.com/2022/10/26/third-quarter-of-2022-reveals-increase-in-cyberattacks/

[3] Peter High, “Gartner’s Top 10 Strategic Tech Trends For 2023”, From: https://www.forbes.com/sites/peterhigh/2022/10/19/gartners-top-10-strategic-tech-trends-for-2023/?sh=6d151ecf4cb4

              3. เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลแบบบูรณาการ (Applied Observability) เมื่อธุรกิจอุตสาหกรรมในวันนี้ ต้องอาศัย Data Driven หรือการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล จึงจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจที่ทันสมัยเข้ามาช่วย แต่ทว่าองค์กรธุรกิจจำนวนมากไม่ได้มีการวางระบบการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระเบียบ จึงทำให้ข้อมูลกระจัดกระจาย จนไม่สามารถนำข้อมูล มาใช้วิเคราะห์เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจได้ เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลแบบบูรณาการ จึงเป็นสิ่งที่จะเข้ามาตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ของภาคธุรกิจองค์กร

              เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลแบบบูรณาการ เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายจากแหล่งต่าง ๆ มาจัดเก็บไว้ใน Data Center ขององค์กร เช่น

  • สถิติทางธุรกิจย้อนหลัง
  • ประสิทธิภาพการทำงานของแอปพลิเคชันที่ให้บริการ
  • สัดส่วนการขายทุกไตรมาส
  • ข้อมูลการใช้งานของลูกค้า
  • ประสิทธิภาพของเครือข่ายและโครงสร้างพื้นฐานภายในองค์กร

              จากนั้นจะใช้เครื่องมือที่เป็นซอฟต์แวร์และ AI ในการทำการวิเคราะห์แบบบูรณาการข้อมูลเหล่านั้น ทำให้ทั้งองค์กรได้ข้อมูลที่ละเอียด แม่นยำ และรวดเร็ว สามารถช่วยลดระยะเวลาในการวางแผนตัดสินใจทางธุรกิจได้ และนั่นจะทำให้องค์กรสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้

เทคโนโลยีด้านความยืดหยุ่น

              ความยืดหยุ่นและคล่องตัวยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรธุรกิจชั้นนำให้ความสำคัญ เพราะยิ่งมีความยืดหยุ่น องค์กรจะยิ่งปรับตัวไปกับสภาพการณ์ต่าง ๆ ได้เร็ว และทำให้ง่ายต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ก่อนจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นคล่องตัวให้กับองค์กร จำเป็นจะต้องมีการ Digital Transformation ปรับส่วนต่าง ๆ ขององค์กรให้พร้อมสำหรับการวางระบบเทคโนโลยีอันทันสมัยเสียก่อน ถึงจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ โดยเทคโนโลยีดิจิทัลด้านความยืดหยุ่นที่องค์กรชั้นนำจะให้ความสำคัญจะมีดังนี้

              1. Cloud Platform องค์กรต่าง ๆ จะมีการใช้งาน Cloud Platform สำหรับเก็บข้อมูลขององค์กรมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม ที่จะไม่เพียงแค่การเก็บข้อมูล แต่จะดึงเอาระบบประมวลผลและเครื่องมือสำคัญมาอยู่ใน Cloud Platform ด้วย เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานของพนักงานทุกฝ่ายทั้งองค์กร

              2. เครื่องมือสำหรับนักพัฒนา (Platform Engineer) เป็นเทคโนโลยีซอฟต์แวร์แบบใหม่ที่บริษัทผู้พัฒนาจะทำการสร้างระบบและชุดเครื่องมือสำเร็จรูปขึ้นมา เพื่อให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันขององค์กรธุรกิจต่าง ๆ นำไปสร้างสรรค์และพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันของตนเองได้ตามต้องการ ตรงนี้จะทำให้องค์กรธุรกิจสามารถที่จะสร้างเครื่องมือหรือระบบที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจของตนเองได้อย่างยืดหยุ่นและเหมาะสมกับการใช้งาน

              3. เทคโนโลยีเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สาย (Wireless-Value Realization) Gartner คาดการณ์ว่าองค์กรต่าง ๆ จะเพิ่มอุปกรณ์เชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายภายในองค์กรมากขึ้นกว่า 50% ภายในปี 20254 เพราะการเชื่อมต่อไร้สายไปได้ไกลกว่าและทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ ได้มากขึ้น สามารถจะติดตามวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ได้อย่างที่ต้องการ

[4] Peter High, “Gartner’s Top 10 Strategic Tech Trends For 2023,” From: https://www.forbes.com/sites/peterhigh/2022/10/19/gartners-top-10-strategic-tech-trends-for-2023/?sh=6d151ecf4cb4

เทคโนโลยีเชิงรุก

              นอกจากเทคโนโลยีเพื่อประสิทธิภาพภายในองค์กรแล้ว เทคโนโลยีที่จะช่วยบุกเบิกตลาดใหม่ ๆ ก็เป็นหนึ่งในแผนขององค์กรชั้นนำเช่นกัน ยิ่งองค์กรใดที่ผ่านกระบวนการ Digital Transformation มาอย่างสมบูรณ์แล้ว ยิ่งทำให้พร้อมสำหรับการทดลองบุกเบิกตลาดด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเทคโนโลยีที่จะให้ช่วยภาคธุรกิจเปิดเกมรุกได้อย่างน่าสนใจคือ

              1. Super Apps เป็นแนวคิดการพัฒนาแอปพลิเคชันที่พร้อมสำหรับการตอบสนองสไตล์การใช้งานแบบรายบุคคล ตัวแอปพลิเคชันผู้ใช้งานจะสามารถปรับแต่งในแบบที่ตนเองต้องการได้ ทำให้ในหนึ่งแอปพลิเคชันจะสามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานได้หลากหลาย Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2027 จำนวนผู้ใช้งาน Super Apps จะมากขึ้นถึง 50% ของประชากรโลกเลยทีเดียว5

              2. AI ที่ปรับเปลี่ยนได้ (Adaptive AI) ในอีกไม่ช้านี้ AI จะมีความสามารถมากขึ้นกว่าเดิม ไม่เพียงแต่จะช่วยมนุษย์ในการปฏิบัติงาน แต่จะยังสามารถปรับเปลี่ยนพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นได้ด้วย ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของประสิทธิภาพการแข่งขันของโลกธุรกิจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

              3. Metaverse แม้ว่า Metaverse จะเป็นสิ่งที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากนัก แต่เทคโนโลยีที่สอดรับกับ Metaverse อย่าง Digital Twins, Web 3.0 และอื่น ๆ จะกลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทมากขึ้นในโลกธุรกิจ และนั่นทำให้องค์กรขนาดใหญ่วางแผนลงทุนในระยะยาวกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse เหล่านี้ เพื่อสร้างรากฐานของตนเองให้พร้อมสำหรับการมาถึงของ Metaverse

[5] Peter High, “Gartner’s Top 10 Strategic Tech Trends For 2023,” From: https://www.forbes.com/sites/peterhigh/2022/10/19/gartners-top-10-strategic-tech-trends-for-2023/?sh=6d151ecf4cb4

เทคโนโลยีแห่งคุณค่าและความยั่งยืน

              ในท้ายที่สุดแล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทุกองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันก็คือ เทคโนโลยีที่จะช่วยสร้างคุณค่าและความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ซึ่งไม่ได้ถูกจำกัดกรอบว่าจะต้องเป็นเทคโนโลยีหรือโซลูชันแบบใด แต่ขอให้เทคโนโลยีนั้น ๆ เพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กรได้ สามารถมอบคุณค่าให้กับองค์กรและลูกค้าได้ และสามารถนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนในการทำธุรกิจได้ ทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปด้วยผลลัพธ์ในเชิงบวก ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ทุกองค์กรก็พร้อมอย่างยิ่งที่จะลงทุนในส่วนนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลให้องค์กรนั้น ๆ ตัดสินใจเริ่มกระบวนการ Digital Transformation เพื่อให้พร้อมสำหรับโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวล้ำแห่งอนาคต

              เพราะ Digital Transformation เป็นเรื่องสำคัญที่ภาคธุรกิจไทยไม่ควรมองข้าม และ AIS Business ก็พร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้ก้าวสู่ความเป็นองค์กรดิจิทัลด้วยเช่นกัน ด้วยศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งอย่าง AIS 5G และยังมีโซลูชันที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้ครบวงจรจากพาร์ทเนอร์ระดับโลกมากมาย พร้อมด้วยทีมงานระดับมืออาชีพที่สามารถให้บริการกับลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะได้ เราจึงพร้อมอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพลิกโฉมภาคธุรกิจไทยให้ก้าวสู่ความเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างสมบูรณ์

วันที่เผยแพร่ 15 กุมภาพันธ์ 2566

Reference

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำโซลูชันที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ 

สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญจาก AIS Business เพื่อให้คำปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 
สำหรับรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ทันที