Edge Computing ส่วนเติมเต็มประสิทธิภาพ Cloud ในอุตสาหกรรมการผลิต

              ในวันนี้เราอาจจะเริ่มคุ้นเคยกับว่า Cloud Computing กันมากขึ้นเพราะในภาคธุรกิจต่าง ๆ เริ่มปรับเปลี่ยนนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมการผลิต Cloud ถือเป็นศูนย์กลางสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยี IIoT ในส่วนของเครื่องจักรการผลิตสามารถดำเนินงานไปได้แบบอัตโนมัติ แต่นอกจาก Cloud แล้วอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถือว่ามีบทบาทและความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในระบบการทำงานของภาคอุตสาหกรรมการผลิต เป็นส่วนที่จะเพิ่มศักยภาพเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้ไปสู่ Smart Manufacturing แบบสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ก็คือ เทคโนโลยี Edge Computing แล้วผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องลงทุนในเทคโนโลยีนี้หรือไม่ เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาช่วยภาคการผลิตในเรื่องใดได้บ้าง มาพบคำตอบกัน

1748437547

ให้ Edge เป็นส่วนเสริมประสิทธิภาพของ Cloud

              เทคโนโลยี Edge Computing นั้นเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบ Network เช่นเดียวกันกับ Cloud Computing หากพิจารณาโดยผิวเผินอาจมีหลายท่านที่เข้าใจว่าเทคโนโลยีทั้งสองไม่แตกต่างกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว Edge Computing กับ Cloud Computing นั้นแตกต่างกัน

 Edge Computing

              คอนเซปต์การทำงานก็คือ การนำระบบประมวลผลไปไว้ใกล้ ๆ กับแหล่งข้อมูล ถ้าเป็นในอุตสาหกรรมการผลิตก็หมายความว่านำระบบประมวลผลไปติดตั้งไว้ใกล้กับเครื่องจักรหรือส่วนการผลิตให้มากที่สุด เช่น โรงงานผลิตอยู่ที่สมุทรปราการ และมีระบบ Cloud ที่ติดตั้งใน Data Center อยู่ที่กรุงเทพฯ ตามแนวคิดของ Edge แล้วก็จะนำระบบประมวลผลไปติดตั้งอยู่ที่สมุทรปราการเลย โดยที่ระบบประมวลผลนี้ก็ยังทำงานเชื่อมโยงอยู่กับ Cloud ในกรุงเทพฯ เพื่อให้การขนส่งและการประมวลผลทำงานได้รวดเร็วและมีความกระชับมากขึ้น ยิ่งระบบประมวลผลอยู่ใกล้กับส่วนการผลิตมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะลดค่าความหน่วงและลดการใช้ Bandwidth บน Cloud ได้มาก ซึ่งทำให้การส่งข้อมูลไปมาและการประมวลผลบน Cloud รวดเร็วขึ้น ผลลัพธ์ก็คือ การผลิตก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นต้น

Cloud Computing

              ขณะที่ฝั่ง Cloud Computing คอนเซปต์ก็คือ การเป็นศูนย์กลางสำหรับการถ่ายโอน จัดเก็บ และประมวลผลข้อมูลเช่นกันกระบวนการทั้งหมดจะเกิดขึ้นที่ Data Center เพียงแห่งเดียว เพราะ Cloud จะถูกติดตั้งวางระบบไว้ที่ Data Center ขององค์กร ยกตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตอยู่ที่สมุทรปราการ ส่วน Data Center อยู่ที่กรุงเทพฯ IoT เครื่องจักรการผลิตก็จะต้องทำการขนส่งข้อมูลทั้งหมดไปที่ Data Center ที่อยู่ในกรุงเทพฯ โดยตรง เป็นต้น

              ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า การขนส่งและการประมวลผลข้อมูลแบบ Cloud Computing จะเป็นการขนส่งข้อมูลโดยตรงจากส่วนการผลิตไปยัง Data Center เลย ซึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตจะมีเซนเซอร์ IoT จำนวนมากที่ใช้กับเครื่องจักรการผลิตเซนเซอร์เหล่านี้ ทำให้ข้อมูลที่จะต้องส่งไปมามีปริมาณที่มากอยู่แทบจะตลอดเวลาที่ดำเนินการผลิต ยิ่งบวกกับเรื่องของระยะการเดินทางของข้อมูลจากจุดการผลิตไปยัง Cloud ที่อยู่ห่างไกลกันนั้น ทำให้การส่งถ่ายและการประมวลผลข้อมูลอาจจะช้ากว่า ถึงจะทำให้เร็วขึ้นได้แต่ก็ต้องใช้ Bandwidth ที่สูงมาก ซึ่งบางองค์กรอาจไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานที่มี Bandwidth ที่สูงมากนัก ตรงนี้จึงกลายเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งไป

              แต่แนวคิดของ Edge Computing ก็เข้ามาช่วยลดอุปสรรคตรงส่วนนี้ได้ เปรียบเสมือนตัวเชื่อมตรงกลางระหว่าง Cloud และส่วนการผลิต ทำให้การเชื่อมต่อข้อมูลมีความลื่นไหลคล่องตัวขึ้น หากจะลำดับโครงสร้างแล้วก็จะได้เป็น

  • Cloud อยู่ในส่วนบนสุด
  • Edge เป็นส่วนตรงกลาง (เชื่อมระหว่าง Cloud กับ ส่วนระบบการผลิต)
  • ส่วนระบบการผลิต เป็นส่วนที่อยู่ล่างสุด

              ดังนั้น Edge Computing จึงไม่ใช่เทคโนโลยีที่แยกขาดจาก Cloud Computing แต่ในทางกลับกัน Edge เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพและเติมเต็มการทำงานของ Cloud ช่วยลดเวลาในการรับส่งและประมวลผลข้อมูล รวมถึงลดการใช้ Bandwidth ลงไปได้มากนั่นเอง

บทบาทของ Edge Computing ในอุตสาหกรรมการผลิต

              เมื่อเราพอที่จะทราบภาพรวมคอนเซปต์การทำงานของ Edge Computing กันบ้างแล้ว เชื่อว่าคงมีผู้ประกอบการหลายท่านอาจยังมองไม่เห็นภาพว่า Edge Computing จะมีบทบาทต่อธุรกิจการผลิตของตนเองอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร หรือจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมในรูปแบบไหนได้บ้าง ลองมาดูแนวทางการปรับใช้งาน Edge Computing ในอุตสาหกรรมการผลิตแบบเป็นรูปธรรมกัน

              1. ปรับใช้กับบุคลากรที่ต้องลงหน้างาน การส่งข้อมูลและประมวลผลที่รวดเร็วขึ้นของ Edge Computing สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับการทำงานของบุคลากรที่ต้องลงหน้างานปฏิบัติงานที่ภาคสนามได้โดยประสานให้เข้ากับเทคโนโลยีโลกเสมือน (AR/VR) ระบบการผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตนั้นโดยมากแล้วจะมีระบบการทำงานที่ซับซ้อน และในบางครั้งมีความเสี่ยงภัยในด้านต่าง ๆ สูง ทั้งเรื่องของอุณหภูมิ แรงดันอากาศ แรงดันไฟฟ้า ก๊าซและสารเคมี พนักงานที่จะต้องลงพื้นที่ปฏิบัติงานที่ส่วนการผลิตโดยตรงจึงมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยในการปฏิบัติงานแต่ละครั้ง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคลากรเหล่านี้ได้ โดยนำ Edge Computing ผสานเข้ากับ AR/VR

              การเปลี่ยนให้บุคลากรเข้ามาดูแลบริหารจัดการระบบการผลิตผ่านเทคโนโลยี AR/VR เป็นส่วนที่ช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรภาคสนามได้ และการประมวลผลแบบ Edge สามารถสนับสนุนการทำงานของ AR/VR ได้ดีอย่างยิ่ง เพราะการประมวลผลแบบ Edge จะช่วยทำให้ตัวอุปกรณ์ AR/VR ไม่ต้องทำงานหนัก ทำให้ลดการใช้แบตเตอรี่ในตัวอุปกรณ์ลงได้ ในขณะเดียวกันการประมวลผลที่เร็วขึ้นก็ช่วยทำให้การส่งถ่ายข้อมูลเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ ผู้ใช้งานอุปกรณ์ AR/VR ก็จะได้เห็นปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรการผลิตได้แบบเรียลไทม์ไปด้วย ทำให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันทันที

              2. นำมาใช้เพื่อกำหนดแผนบำรุงรักษา หนึ่งในปัญหาที่สร้างความหนักใจให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็คือ ปัญหาเครื่องจักรระบบการผลิตหยุดทำงานโดยไม่ทราบสาเหตุ ปัญหานี้สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจเป็นอย่างมาก และอาจกระทบไปถึงระบบห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดด้วย ตรงนี้จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตต้องนำแนวทาง “การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์” มาใช้เพื่อป้องกันปัญหา แต่การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพจะต้องใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งการประมวลผลแบบ Edge จะเป็นส่วนที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการกำหนดแผนบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ เพราะข้อมูลจากเซนเซอร์ IoT หลายพันชิ้นจะต้องถูกรวบรวมและทำการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร การประมวลผลแบบ Edge จะช่วยทำให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเรียลไทม์มากขึ้น เมื่อข้อมูลที่ส่งมาเป็นข้อมูลที่ทำงานเรียลไทม์ ผู้ที่ดูแลระบบสามารถที่จะทราบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ในทันที สามารถที่จะวิเคราะห์หาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที และยังสามารถที่จะประเมินได้ว่าควรหยุดใช้เครื่องจักรและทำการซ่อมบำรุงเมื่อไหร่ ตรงนี้จะช่วยทำให้กำหนดแผนการดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง ทำให้ไม่เกิดผลกระทบทางลบต่อธุรกิจและห่วงโซ่อุปทาน

              3. นำมาใช้เพื่อกำหนดแผนการดำเนินการผลิต นอกจากจะใช้วางแผนการบำรุงรักษาได้แล้ว การประมวลผลแบบ Edge ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถที่จะวางแผนการผลิตไปตามสภาพความผันแปรของปัจจัยแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ง่ายด้วย เพราะไม่ว่าจะมีปัจจัยใดที่มีผลต่อการผลิตเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น การประมวลผลแบบ Edge จะทำให้ผู้ดูแลทราบข้อมูลของปัญหาได้ในทันที หากเป็นปัจจัยภายในที่เป็นระบบการผลิตเอง ก็จะแก้ไขและวางแผนใหม่ได้ทัน ถ้าเป็นปัจจัยภายนอกที่สัมพันธ์กับความต้องการของตลาด ผู้ประกอบการก็จะสามารถสั่งหยุดการผลิตหรือปรับเปลี่ยนแผนการผลิตให้มากขึ้นได้อย่างทันท่วงที ทำให้ธุรกิจปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

              จากที่กล่าวมาทั้งหมด คงจะเพียงพอที่จะทำให้ท่านผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้ทราบแล้วว่า Edge Computing เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีบทบาทความสำคัญไม่น้อยต่อภาคอุตสาหกรรม เป็นส่วนเติมประสิทธิภาพ Cloud และนับวันจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อโลกของอุตสาหกรรมการผลิตก้าวสู่ Smart Manufacturing ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามเทคโนโลยีนี้ไปโดยเด็ดขาด และถ้าท่านผู้ประกอบการมีความสนใจในการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ AIS Business ก็พร้อมสนับสนุนให้ทุกองค์กรมีศักยภาพทางการแข่งขันที่สูงขึ้น ด้วยเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและแพลตฟอร์มโซลูชันอันหลากหลาย เราพร้อมอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยให้มีศักยภาพพร้อมรับมือกับทุกโอกาสและทุกความท้าทายที่จะเข้ามา เพื่อก้าวไปสู่มาตรฐานใหม่ที่ดีกว่าในอนาคต

วันที่เผยแพร่ 24 พฤศจิกายน 2565

Reference

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำโซลูชันที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ 

สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญจาก AIS Business เพื่อให้คำปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 
สำหรับรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ทันที