รู้จักสร้างพันธมิตร ปลูกความยั่งยืนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ
15 ธ.ค. 2562

ธุรกิจ Startup เป็นที่ทราบกันดีว่าส่วนใหญ่จะผ่านช่วงสองถึงสามปีแรกได้อย่างยากลำบาก หรือบางรายอาจต้องถอยทัพกลับไปอย่างน่าเสียดาย แต่ถ้าสตาร์ทอัพอยากให้ธุรกิจมีโอกาส พลิกกลับมาเติบโตอีกครั้งได้ อาจจำเป็นต้องหันไปพึ่งยักษ์ใหญ่ที่สามารถพลิกชีวิตได้เข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือบริษัทที่มีศักยภาพมากกว่าสตาร์ทอัพของเรา หรือธุรกิจที่มีความต้องการหรือผลประโยชน์ร่วมกันได้ การจับมือกันเพื่อเริ่มต้นธุรกิจร่วมกันครั้งใหม่อาจเป็นเส้นทางเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จในระยะยาวก็เป็นได้

‘โลกแห่งการปรับตัว’ สิ่งสำคัญที่พันธมิตรและสตาร์ทอัพต้องปรับเปลี่ยนไปพร้อม

เมื่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสตาร์ทอัพและธุรกิจที่เป็นพันธมิตรเกิดขึ้น ผลประโยชน์ร่วมกันที่ตามมา คือ สตาร์ทอัพสามารถพัฒนาขีดจำกัดของตนเองผ่านโปรดักส์ได้เต็มที่มากขึ้น เนื่องจากการได้รับรายได้ที่มั่นคงจากบริษัทที่เป็นพันธมิตรต่างๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนส่วนฝั่งพันธมิตรก็ได้รับผลดีจากการจับมือกันครั้งนี้ อย่างการได้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ บริการใหม่ๆและความคล่องตัวของการพัฒนาธุรกิจมากขึ้นจากความชำนาญของบริษัทสตาร์ทอัพนั่นเอง

รู้จักสร้างพันธมิตร ปลูกความยั่งยืนให้ธุรกิจ Startup

ความลับอย่างหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไป นั่นคือ การเซ็นสัญญาลงนามการเริ่มธุรกิจร่วมกันหรือการเป็นพันธมิตรกันอย่างถูกต้องโดยมีลายลักษณ์อักษรระบุลักษณะของธุรกิจ ระบุระยะเวลาต่างๆ ให้ชัดเจนระหว่างบริษัทพันธมิตรและตัวสตาร์ทอัพเอง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาที่คาดคิดในภายหลัง เพราะการเป็นพันธมิตรไม่ว่ากับใคร นั่นคือ การยอมรับความเสี่ยงที่จะตามมามากมายหากไม่ทำเอกสารให้ถูกต้องถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอดใจอยากถอยหลังแล้วฉีกสัญญาพันธมิตรนี้อีกฝ่ายจะได้ป้องกันสิทธิที่ควรจะได้ ไม่ให้โดนทิ้งลอยแพอยู่ฝ่ายเดียวนั่นเอง

1. สตาร์ทอัพของเราจะเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจของพันธมิตรในด้านใด?

การที่ธุรกิจหรือบริษัทจะเข้ามาเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพหรือการตกลงปลงใจที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจร่วมกันแล้วนั้นเจ้าของบริษัทก็ต้องคิดแล้วคิดอีกว่าสตาร์ทอัพนั้นๆ จะเข้ามาช่วเหลือหรือพัฒนาให้บริษัทเติบโตก้าวหน้าได้มากน้อยแค่ไหนหรือจะเข้ามาช่วยเหลือในด้านใดได้บ้าง เพราะถ้าธุรกิจสตาร์ทอัพไม่ตอบโจทย์การเข้ามาพัฒนาหรือมีจุดประสงค์เป้าหมายที่ต่างกัน อาจเป็นไปได้ว่าการเซ็นสัญญาพันธมิตรครั้งนี้มีเกณฑ์ล่มมากถึง 80% ทางออกที่ดี คือ บริษัท Startup ต้องมีจุดยืนที่แน่ชัด และเลือกพันธมิตรที่เหมาะสมกับแนวทางของธุรกิจตนเองให้มากที่สุด

2. พันธมิตรของเรามีจุดแข็ง - จุดอ่อน ในด้านใด?

จากข้อที่ 1 ที่ว่าบริษัท Startup ของคุณจะเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจพันธมิตรได้อย่างไร หรือในด้านใด? ข้อนี้มีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง คือ การศึกษาจุดแข็งและจุดอ่อนของพันธมิตรว่ามีความคล้าย หรือความเหมือนกับสตาร์ทอัพของเราหรือไม่ แล้วเราจะเข้าไปเติมเต็มจุดอ่อนของพันธมิตรได้อย่างไร พันธมิตรมีจุดแข็งคือข้อไหนที่จะพาให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเติบโตขึ้นได้อีกหลายเท่า นี่คือสิ่งที่ต้องทำการบ้านมากเลยทีเดียว

3. กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้หรือไม่?

การวางแผนหรือออกแบบเส้นทางทางธุรกิจ (Business Model) ที่ชัดเจนนั้น มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทสตาร์ทอัพกับบริษัทพันธมิตรมาก เพราะหากไม่มีแผนหรือเป้าหมายในการมีส่วนร่วมในระยะยาวของสัญญาพันธมิตรครั้งนี้ สตาร์ทอัพและบริษัทต่างๆ จะไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้ เพราะเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน เช่นเดียวกับการวัดผลของทั้ง 2 พันธมิตรที่ต้องคุยกันอย่างละเอียด ว่าอะไรคือตัววัดความสำเร็จของการจับมือกัน ส่วนข้อเสนอแนะสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ คือ ควรทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นหลักฐานเอาไว้ ทั้งเป้าหมายและตัววัดผลที่วัดได้ ที่สำคัญควรกำหนดระยะเวลาอาจจะสามปีหรือหนึ่งปี ตามไตรมาสสำหรับโครงการที่จะเริ่มดำเนินการร่วมกัน เพื่อความสะดวกและความถูกต้องเวลาตรวจสอบและวัดเป้าหมาย ยิ่งเป้าหมายมีขนาดเล็กและจับต้องได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น

การมีเพื่อนคู่คิดทางธุรกิจหรือพันธมิตรในการช่วยต่อยอดให้สตาร์ทอัพเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นเรื่องที่ดี แต่การรู้จักวางแผนและศึกษาบริษัทก่อนจะเข้ามาเป็นพันธมิตรก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน หากอยากผ่านช่วงเวลาแรกของการทำธุรกิจอย่างฉลุยการมองหาคู่หูคงเป็นเรื่องไม่เลวเลยทีเดียว AIS The StartUp ขอเป็นกำลังใจให้กับสตาร์ทอัพทุกคน มองหาโอกาสจากการร่วมลงมือ กับธุรกิจอื่นๆ ได้อย่างสำเร็จการมีเพื่อนคู่คิดทางธุรกิจหรือพันธมิตรในการช่วยต่อยอดให้สตาร์ทอัพเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นเรื่องที่ดี แต่การรู้จักวางแผนและศึกษาบริษัทก่อนจะเข้ามาเป็นพันธมิตรก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน หากอยากผ่านช่วงเวลาแรกของการทำธุรกิจอย่างฉลุย การมองหาคู่หูคงเป็นเรื่องไม่เลวเลยทีเดียว AIS The StartUp ขอเป็นกำลังใจให้กับสตาร์ทอัพทุกคน มองหาโอกาสจากการร่วมลงมือกับธุรกิจอื่นๆ ได้อย่างสำเร็จ

บทความโดย
AIS The StartUp