Cloud Continuum: เมื่ออนาคตของ Cloud ไม่ได้อยู่เพียงแค่บน Cloud อีกต่อไป

              หลายปีที่ผ่านมานี้ Cloud ได้กลายเป็นเทรนด์หลักของเทคโนโลยีที่ทุกธุรกิจต้องเปิดรับและนำไปใช้งานเพื่อสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ส่งผลให้การย้ายระบบขึ้นสู่ Cloud นั้นเกิดขึ้นในแทบทุกองค์กรธุรกิจอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

              อย่างไรก็ดี ในปี 2021 ที่ผ่านมานี้องค์กรธุรกิจจำนวนมากเริ่มมีการใช้งาน Cloud ในระดับที่มีความมั่นคงแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องก้าวสู่ระดับถัดไปของการใช้ Cloud ในระดับสูงยิ่งขึ้นในปี 2022 เพื่อตอบโจทย์กลยุทธ์ของธุรกิจในระยะยาว และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดได้อย่างไม่รู้จบ

              ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับสถาปัตยกรรมใหม่ของ Cloud ที่มีชื่อเรียกว่า Cloud Continuum ที่จะทำให้องค์กรธุรกิจสามารถใช้ความสามารถของ Cloud ที่หลากหลาย และข้อมูลธุรกิจที่กระจัดกระจายอยู่บน Cloud ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ ในขณะที่ยังคงบริหารจัดการได้อย่างสะดวกและง่ายดาย

Cloud เดียวไม่เพียงพอสำหรับองค์กรธุรกิจอีกต่อไป

              อ้างอิงจากรายงานของ Accenture (1) ที่ได้ทำการสำรวจผู้นำทางด้านธุรกิจและไอที ทั่วโลกกว่า 4,000 ราย ระบุว่าเกือบ 65% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่าการใช้ Cloud นั้นช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 10% โดยเฉลี่ย ในขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 12-15% นั้นพบว่าการใช้ Cloud อย่างต่อเนื่องนั้นสร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อองค์กรธุรกิจ โดยท่ามกลางกระแสการทำ Disruption ครั้งใหญ่ทั่วโลกนี้ การใช้งาน Cloud ก็ได้กลายเป็นระบบโครงสร้างที่สำคัญในการริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมและวิธีการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ

              อย่างไรก็ดี เมื่อองค์กรธุรกิจมีการใช้งาน Cloud อย่างต่อเนื่องและมีการใช้งาน Cloud จากผู้ให้บริการหลายรายเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป ก็เริ่มทำให้เกิดปัญหาการกระจุกตัวกันของ Business Application และข้อมูลธุรกิจบนบริการ Cloud แต่ละระบบ ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว องค์กรธุรกิจก็เริ่มเผชิญกับปัญหาของการดูแลรักษาระบบ Cloud ที่หลากหลาย ยากต่อการย้ายข้อมูลหรือระบบระหว่างกัน เกิดเป็น Silo ของแต่ละระบบ บนแต่ละบริการ Cloud ส่งผลให้ธุรกิจไม่สามารถใช้ประโยชน์จากบริการ Cloud ได้อย่างเต็มที่เท่าที่ควร แนวคิดของระบบ Multi-Cloud และ Hybrid Cloud จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้

              นอกจากนี้ ด้วยความต้องการทางธุรกิจที่ต้องการใช้พลังประมวลผลในอาคาร, โรงงาน และสถานที่ต่างๆ ด้วย Latency ที่ต่ำ ซึ่งเป็นโจทย์ที่บริการ Cloud แบบดั้งเดิมตอบโจทย์ได้ยาก การนำแนวคิด Edge Computing ร่วมกับ Cloud มาใช้ในธุรกิจจึงเริ่มกลายเป็นที่สนใจในกลุ่มองค์กรธุรกิจ ทำให้ระบบ IT Infrastructure ขององค์กรธุรกิจยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีกในการดูแลรักษาระบบ Edge เหล่านี้ควบคู่ไปกับ Multi-Cloud และ Hybrid Cloud

              ในขณะเดียวกัน ประเด็นเหล่านี้ได้ยิ่งสร้างความท้าทายให้มากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อนำข้อกำหนดทางกฎหมายด้านความมั่นคงปลอดภัย, ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และการทำ Compliance สำหรับธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมเข้ามาประเมินด้วย เพราะในสถาปัตยกรรม Cloud และ Edge ที่องค์กรมีการใช้งานอย่างหลากหลาย การควบคุมนโยบายเหล่านี้ให้เป็นไปตามข้อกำหนดนี้ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง จากการที่ต้องคำนึงและออกแบบวิธีการจัดเก็บ เข้าถึง ใช้งาน และควบคุมข้อมูลให้เป็นไปตามข้อกำหนดเหล่านี้

              ความท้าทายเหล่านี้เองได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์กรธุรกิจไม่สามารถดำเนินกลยุทธ์ทางด้านเทคโนโลยีได้อย่างคล่องตัวในระยะหลัง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้องค์กรต้องมองหาสถาปัตยกรรมใหม่ที่ผสานรวมการใช้งาน Cloud ทุกรูปแบบและ Edge เข้าด้วยกันให้ได้อย่างสมบูรณ์

Cloud Continuum: ผสานรวมหลากหลายระบบ Cloud เข้ากับ Edge ตอบโจทย์ Workload องค์กรธุรกิจสมัยใหม่

              Accenture ได้ให้นิยามของสถาปัตยกรรม Cloud Continuum (2) ว่าเป็นระบบที่ผสานรวม Private Cloud, Public Cloud, Hybrid Cloud, Multi-Cloud และ Edge เข้าด้วยกันผ่านการเชื่อมต่อโดยเทคโนโลยี 5G และ Software-Defined Networking (SDN) เพื่อให้องค์กรธุรกิจมีสถาปัตยกรรม Cloud และ Edge ในทุกรูปแบบให้พร้อมใช้งาน ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันออกไปได้อย่างยืดหยุ่น

ภาพประกอบ จาก https://www.accenture.com/us-en/insights/cloud/cloud-continuum

              Continuum Competitor คือคำศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อใช้เรียกองค์กรธุรกิจที่นำแนวคิด Cloud Continuum ไปใช้ ในฐานะของการเป็นองค์กรธุรกิจที่ใช้ Cloud และ Edge เพื่อสร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่สำหรับรองรับอนาคตที่กำลังจะมาถึง

              Accenture ระบุว่า Continuum Competitor สามารถลดค่าใช้จ่ายในองค์กรลงได้ 1.2-2.7 เท่า เมื่อเทียบกับธุรกิจที่ไม่ได้ใช้แนวคิด Cloud Continuum แต่ยังคงทำ Cloud Migration ในการย้ายระบบเป็นครั้งๆ ไป อีกทั้งยังสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้มากกว่า 2-3 เท่า และสามารถตอบโจทย์ความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าถึง 3 เท่าเลยทีเดียว

              การใช้แนวคิด Cloud Continuum นี้ยังทำให้องค์กรธุรกิจสามารถเลือกสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละระบบงานที่ตนเองต้องการได้ และยังสามารถเลือกใช้วิธีการหรือเทคโนโลยีเบื้องหลังนวัตกรรมที่ดีที่สุดได้อย่างต่อเนื่องในทุกๆ โครงการ

อุปสรรคในการก้าวสู่ภาพ Cloud Continuum

              ถึงแม้ Cloud Continuum จะเป็นสถาปัตยกรรมที่มีข้อดีมากมาย แต่การนำ Cloud Continuum มาใช้งานจริงนั้นก็ย่อมมีอุปสรรคที่องค์กรต้องฝ่าฟันไปให้ได้ โดย Accenture ได้ทำการสำรวจถึงปัจจัยที่องค์กรธุรกิจยังมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำ Cloud Continuum ดังนี้

  • 42% ระบุถึงความซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเชิงธุรกิจและการดำเนินงาน
  • 42% ระบุถึงวิธีการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและการทำ Compliance
  • 35% ระบุถึงความไม่สอดคล้องกันในการดำเนินงานระหว่างฝ่ายไอที และฝ่ายธุรกิจ
  • 34% ระบุถึงความล้าสมัยของระบบ IT Infrastructure และความซับซ้อนภายในระบบ Application ขนาดใหญ่ที่องค์กรใช้งาน
  • 32% ระบุถึงประเด็นด้านความเป็นเจ้าของข้อมูลและข้อกฎหมาย

              อย่างไรก็ดี หากมองในระยะยาวแล้ว การทำ Cloud Continuum นี้จะส่งผลดีและสร้างประโยชน์ในระยะยาวแก่องค์กรธุรกิจ ทำให้การฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้มีความคุ้มค่า ซึ่งจะนำไปสู่การทำ Industry Transformation เปลี่ยนอุตสาหกรรมใดๆ ให้ก้าวมาสู่การดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างเข้มแข็ง

ต่อยอด Cloud Continuum สู่กลยุทธ์การทำธุรกิจแห่งอนาคตบนโลกดิจิทัลอย่างคุ้มค่าสูงสุด

              การใช้งาน Cloud Continuum องค์กรไม่เพียงจะได้ประโยชน์จากความสามารถในการลดค่าใช้จ่ายในการใช้งาน Cloud เท่านั้น แต่องค์กรจะยังได้รับความยืดหยุ่นและความรวดเร็วในการใช้งานระบบ Cloud และ Edge ที่เหมาะสมเพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจอีกด้วย โดยกุญแจความสำเร็จในการใช้งาน Cloud Continuum ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรธุรกิจนั้นมีด้วยกัน 4 ประการ ดังนี้

1. การกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ทางธุรกิจและเทคโนโลยีให้ชัดเจน

              ในการใช้งาน Cloud Continuum ให้ได้อย่างคุ้มค่านั้น ธุรกิจจะต้องสร้าง Cloud Continuum Strategy ให้ครอบคลุมถึงประเด็นดังต่อไปนี้

  • วิสัยทัศน์ทางธุรกิจซึ่งระบุถึงค่านิยมหลักขององค์กรและเป้าหมายในระยะยาว
  • การวิเคราะห์และระบุถึงจุดอ่อนและสิ่งที่ยังขาดซึ่งต้องการเติมเต็ม
  • การทำความเข้าใจที่ชัดเจนถึงจุดยืนในปัจจุบันและเป้าหมายที่ต้องการมุ่งหน้าไปให้ถึง

กรณีศึกษา: BOSCH

              BOSCH คือหนึ่งในธุรกิจที่มีเป้าหมายในการมุ่งสู่ภาพของ Smart Manufacturing 4.0 ด้วยการสร้าง Smart 5G Factory โดยการใช้โครงข่าย Private 5G ในการเชื่อมต่อเครื่องจักรในสายการผลิตเข้ากับระบบประมวลผลและ Cloud เพื่อทำการวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลที่เกิดขึ้นในสายการผลิตแบบ Real-time ให้สามารถทำการเข้าถึงได้จากทั้งภายในและภายนอกโรงงาน

2. เลือกใช้งาน Cloud Practice ที่ดีและเหมาะสมที่สุดอยู่เสมอ

              การนำ Cloud Practice ที่ดีและเหมาะสมมาใช้กับแต่ละงานให้แตกต่างกันออกไปเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้งาน Cloud Continuum นั้นคือสิ่งที่จำเป็น โดย Cloud Practice ที่องค์กรธุรกิจควรจะต้องทำความรู้จักมีดังนี้

  • Feed-It-Forward เร่งความเร็วในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อสร้างตลาดใหม่แห่งอนาคตอย่างต่อเนื่อง
  • Continuous Goals ดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายอย่างต่อเนื่องเป็นระยะยาว
  • Cloud-First Apps พัฒนา Application โดยออกแบบและวางระบบเพื่อรองรับการใช้งานบน Cloud เป็นหลัก
  • Talent Transformation เสริมสร้างศักยภาพใหม่ๆ แก่พนักงานเพื่อให้ทุกการเปลี่ยนแปลงในองค์กรเป็นไปได้อย่างมั่นคง
  • IT Experimentation ทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำเสนอประสบการณ์ใหม่ๆ ในทุกๆ การอัปเกรดระบบ
  • Scale Awareness ทำนายความต้องการของระบบในอนาคตเพื่อรองรับบริการ Cloud-AI รูปแบบใหม่ๆ

กรณีศึกษา: Food Passion

              Food Passion ธุรกิจที่เป็นเจ้าของร้านอาหารชื่อดัง อย่างเช่น บาร์บีคิวพลาซ่า จุ่มแซ่บฮัท และฮ็อทสตาร์ ได้เลือกใช้บริการ AIS Enterprise Cloud เพื่อรองรับการดำเนินงานในสาขาต่างๆ ของร้านอาหารทั่วประเทศไทย และนำข้อมูลจากแต่ละสาขามาทำการจัดเก็บอยู่บน Cloud เพื่อนำไปวิเคราะห์ทางการตลาด ทำความเข้าใจลูกค้า และนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงพร้อมที่จะเปิดสาขาใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีมาเป็นคอขวดของธุรกิจอีกต่อไป ด้วยการเชื่อมต่อสาขานั้นๆ เข้ากับระบบ บน Cloud ผ่าน เครือข่ายของ AIS

3. เร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม

              Cloud Continuum จะช่วยให้ประสบการณ์ในการทำงานของพนักงานและการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าเป็นจริงขึ้นมาได้ จากการนำแนวคิดแบบ Data-Driven, Automation และการนำเครื่องมือต่างๆ บน Cloud ไปใช้เสริมในทุกๆ การทำงานและการให้บริการลูกค้าขององค์กร

กรณีศึกษา: Loreal

              Loreal ได้มุ่งมั่นที่จะส่งมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าด้วยการพัฒนานวัตกรรมที่มีชื่อว่า Lancome Skin Screen ซึ่งเป็นเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) มาผสานรวมกับระบบ Skin Diagnostic เพื่อทำการวัดคุณภาพผิวของลูกค้าด้วยการอ้างอิงจากข้อมูลสภาพผิวกว่า 5 แสนรายการ พร้อมระบุถึงปัญหาด้านผิวที่ลูกค้าต้องใส่ใจเป็นพิเศษ และแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพผิวของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ โดยใช้โครงข่าย 5G FWA ในการส่งข้อมูลรูปภาพผิวของลูกค้าขึ้นไปวิเคราะห์บน Cloud ได้อย่างรวดเร็ว

4. ดำเนินกลยุทธ์ขององค์กรอย่างแข็งขัน

              ถึงแม้การดำเนินกลยุทธ์ Cloud Continuum จะเป็นสิ่งที่ยากและมีอุปสรรคมากมาย แต่เพื่อประโยชน์ในระยะยาว ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรจึงต้องมุ่งมั่นที่จะดำเนินกลยุทธ์นี้ให้สำเร็จ และสร้างความเข้าใจให้กับพนักงานในแต่ละฝ่าย เพื่อให้เกิดการรวมพลัง นำความสามารถที่แตกต่างกันของแต่ละคนมาผสานเพื่อสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับองค์กรธุรกิจที่ในอนาคตจะมี Cloud Continuum เป็นศูนย์กลางให้ได้

กรณีศึกษา: SHERA

              SHERA ได้ทำโครงการ Digital Transformation โดยการอาศัยบริการ Microsoft 365 และ Microsoft Azure จาก AIS มาใช้เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้บริหารและพนักงานในแต่ละฝ่าย พร้อมการวางระบบเครือข่ายเชื่อมต่อทุกสาขาในองค์กรเข้าด้วยกันโดยมี Firewall ศูนย์กลางสำหรับการรักษาความมั่นคงปลอดภัย และการเชื่อมต่อเครือข่ายผ่าน Microsoft Edge Node เพื่อให้ทุกการใช้งานบริการ Cloud ของ Microsoft เป็นไปด้วยประสิทธิภาพในระดับที่สูงสุด

              จะเห็นได้ว่าในการใช้งาน Cloud ให้ได้อย่างเต็มศักยภาพนั้น ถึงแม้การทำความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือการวางกลยุทธ์ทางด้านธุรกิจให้สามารถดึงเอาข้อดีของ Cloud มาใช้สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจในแง่มุมต่างๆ ให้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งประเด็นนี้เอง ทาง AIS Business และ CSL ก็พร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจของคุณ ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านการทำ Business Transformation ด้วยเทคโนโลยี Cloud ให้กับองค์กรธุรกิจไทยมาแล้วหลากหลายอุตสาหกรรม

              สำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยี Cloud หรือแนวคิด Cloud Continuum สามารถติดต่อทีมงาน AIS Business ได้ทันที

วันที่เผยแพร่ 4 เมษายน 2565

Reference

  1. Cloud outcomes survey: Expectation vs. reality
    ที่มา: https://www.accenture.com/us-en/insights/cloud/cloud-outcomes-perspective
  2. The Cloud Continuum Be ever–ready for every opportunity ที่มา: https://www.accenture.com/us-en/insights/cloud/cloud-continuum

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำโซลูชันที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ 

สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญจาก AIS Business เพื่อให้คำปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 
สำหรับรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ทันที