3 สิ่งที่องค์กรต้องทำ ในการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมสู่ความเป็นดิจิทัล

              จากปัจจัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี บวกกับปัจจัยที่เข้ามากระตุ้นให้จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอย่างโควิด 19 ทำให้องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก ต่างกำลังเร่งเปลี่ยนแปลงทุกองค์ประกอบทั้งหมดขององค์กรให้ไปสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างแท้จริง เพื่อให้ธุรกิจสามารถที่จะปรับตัวและก้าวทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว อันจะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงไม่ว่าจะมีสถานการณ์วิกฤตใด ๆ เกิดขึ้นอีกหรือไม่ก็ตาม

              ธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนมากต่างทราบดีว่า จะต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการทำงานในองค์กรธุรกิจมากขึ้น แต่บริบทของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นองค์กรดิจิทัลที่แท้จริงนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องของการลงทุนนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้เท่านั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะต้องลงมือทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน นั่นจึงทำให้หลาย ๆ องค์กรไม่แน่ใจว่าควรจะเริ่มต้นจากจุดใด และควรจะต้องทำอะไรก่อนดี

              ครั้งนี้จึงขอนำ 3 สิ่งที่เป็นเคล็ดลับที่จะช่วยให้การยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมสู่ความเป็นดิจิทัลนั้นสัมฤทธิ์ผลได้ตามต้องการมาแนะนำ

1. มองความเปลี่ยนแปลงให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ

              สิ่งที่ดูจะเป็นอุปสรรคและทำให้องค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ไม่กล้าที่จะลงมือในการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างเต็มตัวก็คือ “ความกลัว” องค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยไม่กล้าที่จะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพราะไม่สามารถประเมินความต้องการที่แท้จริงขององค์กรตนเองได้ คำถามสำคัญก็คือ แล้วองค์กรจะสลัดทิ้งซึ่งความกลัวเหล่านั้นได้อย่างไร? แนวทางที่แนะนำก็คือ

              1.1 เข้าใจการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ว่าจะในอดีตที่ผ่าน ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด 19 เข้ามา ในปัจจุบันที่ก้าวเข้าสู่ปี 2022 แล้ว หรือแม้กระทั่งในอนาคตที่กำลังจะก้าวเข้ามาก็ตาม เราล้วนอยู่กับ “ความเปลี่ยนแปลง” มาโดยตลอดเวลาอยู่แล้ว กล่าวคือ เราอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ถึงแม้องค์กรธุรกิจจะไม่ตัดสินใจลงทุนในการเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ ท้ายที่สุดแล้วโลกและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และคู่แข่งที่เติบโตเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าช่วย ก็จะเป็นสิ่งที่บีบรัดให้ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่ดี ดังนั้น เมื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่โดยตลอด จึงไม่ใช่สิ่งที่ควรกลัว แต่เป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจควรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย

              1.2 มอง Digital Transformation = การยกระดับธุรกิจให้ก้าวไปอีกขั้ วันนี้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ก็เท่ากับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมของโลกไปโดยปริยาย ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงทีวี ที่ช่วงระยะเวลาเพียง 5 - 10 ปีที่ผ่านมา ก้าวข้ามการรับชมความบันเทิงรูปแบบเก่ามาสู่แบบใหม่แบบพลิกฝ่ามือ จากทีวี, เทป, CD, DVD สู่สตรีมมิงออนไลน์ รายได้จากการโฆษณาทางทีวี เปลี่ยนไปสู่รายได้การโฆษณาบนออนไลน์ (AVOD: Advertising Video On Demand-ให้รับชมฟรีแต่มีโฆษณา) ยอดจัดจำหน่ายจาก CD, DVD ไปสู่รายได้จากการสมัครเป็นสมาชิกบนแพลตฟอร์ม (Subscription - จ่ายค่าบริการรายเดือน/รายปี) ซึ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความคุ้มค่า เพราะสามารถฟังหรือรับชมความบันเทิงในแบบตามที่ต้องการได้อย่างไม่จำกัด

              การที่เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาขึ้นในทุก ๆ ด้าน อย่างโครงสร้างสถาปัตยกรรมไอที, Web 2.0 หรือ Social Web, และ AI พัฒนามากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมสื่อความบันเทิงเปลี่ยนโฉมหน้าไปได้อย่างรวดเร็วและบริษัทผู้ประกอบการต่างเติบโตเร็วอย่างก้าวกระโดด เพราะหลายแพลตฟอร์มไม่ได้เป็นเพียงแค่สื่อความบันเทิง แต่ยังกลายเป็นสังคมอีกหนึ่งแห่งบนโลกออนไลน์ มีรายงานการคาดการณ์จาก PwC เกี่ยวกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงทั่วโลกในปี 2021 - 2025 ว่าจะมีทิศทางไปในเดียวกัน คือ ผู้บริโภคจะหันมาใช้จ่ายเรื่องสื่อบันเทิงต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลออนไลน์มากขึ้น เพราะช่วงโควิด 19 แพร่ระบาดอย่างหนักที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผู้คนอยู่บ้านกันมากขึ้นบวกกับความเครียดจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้ผู้คนต้องการที่จะใช้เวลากับสื่อความบันเทิงต่าง ๆ มากขึ้น โดยการรับชมสื่อบันเทิงในรูปแบบดิจิทัลทุกแบบจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทั้งหมด ส่วนการรับชมสื่อความบันเทิงแบบทีวีดั้งเดิมนั้นจะไม่โตขึ้น และอาจจะถึงขั้นติดลบด้วย เป็นต้น

รูปภาพจาก PwC: https://www.pwc.com/gx/en/industries/tmt/media/outlook.html

              จากตัวอย่างที่ยกมาแค่เพียงอุตสาหกรรมเดียวเท่านั้น ก็เพียงพอที่จะสะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้โลกของธุรกิจอุตสาหกรรมในภาพรวมเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด ส่งผลต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ การที่องค์กรธุรกิจใดสามารถเริ่มต้นเข้าสู่การเป็นธุรกิจดิจิทัลได้เต็มรูปแบบในทันที หรือสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่ความเป็นดิจิทัลได้ จะทำให้ธุรกิจและองค์ของตนเองถูกยกระดับและก้าวไปอีกขั้นในทันทีด้วยเช่นกัน บางองค์กรอาจก้าวขึ้นไปอยู่ในฐานะของผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เลยทีเดียว ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปสู่ความเป็นดิจิทัลนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่กลับกลายเป็น “โอกาส” ทางธุรกิจอีกมากมายที่รออยู่ข้างหน้า และให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่ามากขึ้น

2.วิเคราะห์ความสามารถและกำหนดเป้าหมาย

              หลังจากที่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ความเป็นดิจิทัลได้แล้ว สิ่งต่อไปที่องค์กรต้องทำประการต่อมาก็คือ วิเคราะห์ความสามารถขององค์กรในปัจจุบันทุกมิติ ทั้ง

  • ประเมินธุรกิจหลักในปัจจุบัน
  • บุคลากรที่มี
  • กระบวนการดำเนินงาน และ
  • เทคโนโลยีที่จะใช้ขับเคลื่อน

              หลังจากนั้นก็นำมาเปรียบเทียบกับภาพรวมของอุตสาหกรรมในตลาด เปรียบเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถที่จะกำหนดเป้าหมายที่องค์กรจะมุ่งไปในอนาคตได้ เช่น สามารถที่จะออกแบบหรือนำเสนอคุณค่าใหม่ให้กับสินค้าและบริการของธุรกิจ ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการหรือแก้ไขปัญหาของลูกค้าได้อย่างตรงจุดมากขึ้นได้ สามารถที่จะสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่เป็นธุรกิจที่มีความสามารถมากขึ้น สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆให้กับลูกค้า จนกลายเป็นผู้นำในตลาดได้ เป็นต้น

3.เลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจ

              2 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น องค์กรสามารถที่จะดำเนินการด้วยตนเองได้ แต่เมื่อดำเนินการผ่านพ้นข้อที่ 2 มาแล้วองค์กรส่วนใหญ่จะมาพบอุปสรรคสุดท้าย ที่ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับองค์กรและภาพรวมของอุตสาหกรรมทั้งหมด นั่นก็คือ การเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมสู่ความเป็นดิจิทัล มีองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถตัดสินใจเลือกลงทุนในเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ และบางองค์กรอาจตัดสินใจเลือกลงทุนไปแล้ว แต่เทคโนโลยีที่เลือกลงทุนไปนั้นไม่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ความเป็นดิจิทัลได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า องค์กรยังขาดที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญที่จะให้คำแนะนำอย่างถูกต้อง ว่าควรจะเริ่มลงทุนกับเทคโนโลยีหรือโซลูชันแบบใดที่จะตรงกับลักษณะรูปแบบธุรกิจและการทำงานขององค์กร อันจะเป็นการทำให้การลงทุนไปแล้วเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

              ดังนั้น การเลือกลงทุนในเทคโนโลยีหรือโซลูชันทางไอทีใด ๆ ก็ตาม องค์กรควรจะต้องมีบริษัทที่เชี่ยวชาญและมีความพร้อมในเทคโนโลยีนั้น ๆ เป็นอย่างดีเข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษา วางแผน ให้คำแนะนำในการเลือกใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องและเหมาะสมกับลักษณะของธุรกิจ เพราะบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีดิจิทัลโดยตรง ย่อมจะทราบดีว่าโซลูชันทางไอทีต่าง ๆ นั้นมีความสามารถหรือข้อจำกัดอย่างไรบ้าง และแบบไหนที่จะเหมาะสม สามารถทำงานร่วมกัน หรือต่อยอดกับระบบเดิมที่องค์กรมีอยู่ได้ ตรงนี้จะเป็นการช่วยให้องค์กรสามารถตัดสินใจเลือกลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจได้อย่างไม่มีผิดพลาด และทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนนั่นเอง

              3 ประการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถือเป็นเคล็ดลับที่องค์กรธุรกิจควรจะต้องทำ หากต้องการบรรลุเป้าหมายในการยกระดับองค์กรไปสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจกับคู่แข่งหรือก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำในตลาดได้ และหากองค์กรธุรกิจของคุณกำลังต้องการบริษัทที่เชี่ยวชาญ มีความพร้อมในเทคโนโลยีดิจิทัลและพร้อมที่จะให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องการเปลี่ยนแปลงองค์กรของคุณไปสู่ความเป็นดิจิทัล AIS Business และ CSL ผู้ให้บริการชั้นนำด้าน ICT Service แบบครบวงจร พร้อมที่จะเป็นผู้ช่วยขับเคลื่อน Digital Transformation องค์กรของคุณ ด้วยเทคโนโลยีและการให้บริการดิจิทัลที่หลากหลายครบครัน โดยทีมงานมืออาชีพที่มากความสามารถและไว้วางใจได้ เพื่อให้องค์กรของคุณสามารถเปลี่ยนแปลงและยกระดับไปสู่ความเป็นดิจิทัลได้อย่างสัมฤทธิ์ผลตามที่ตั้งเป้าไว้ อันจะเป็นการช่วยสร้างเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

วันที่เผยแพร่ 4 เมษายน 2565

Reference

  1. Joe McGee & Karla Gallardo. Five Tips for Industrial Digital Transformation. แหล่งที่มา: https://www.accenture.com/us-en/blogs/industrialist-blog/five-tips-for-industrial-digital-transformation
  2. PwC. Global Entertainment & Media Outlook 2021–2025. แหล่งที่มา: https://www.pwc.com/gx/en/industries/tmt/media/outlook.html
  3. Gadgets 360. Web 3.0: What Is It and How Will It Be Different from the Current Internet. แหล่งที่มา: https://gadgets.ndtv.com/internet/features/web-internet-3-0-new-changes-ai-blockchain-decentralised-explained-2536242

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : [email protected]
Website : https://www.ais.th/business

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำโซลูชันที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ 

สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญจาก AIS Business เพื่อให้คำปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 
สำหรับรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ทันที