กฎหมายที่ควรรู้ก่อนลงทำธุรกิจสตาร์ทอัพ
15 ต.ค. 2562

ก่อนจะเข้าสู่เรื่องกฎหมาย startup ลองมาย้อนความหมายของคำว่าสตาร์ทอัพไปช้าๆ อีกสักรอบ ‘สตาร์ทอัพ’ คือ ธุรกิจที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ จนสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ออกแบบให้ธุรกิจมีการทำซ้ำได้ (Repeatable) และขยายกิจการได้ (Scalable) ซึ่งมีการนำเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมมาใช้เป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ โดยส่วนใหญ่มักมีจุดเริ่มต้นจากไอเดียเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันหรือเห็นช่องทางหรือโอกาสทางธุรกิจที่ยังไม่เคยมีใครคิดทำมาก่อน ในขณะเดียวกันสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ก็มีไอเดียล้ำๆ อยู่แล้ว แต่หากขาดความรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจก็อาจเดินทางไปไม่ถึงฝั่งฝัน

ดังนั้นบริษัทสตาร์ทอัพในไทยควรมีความรู้เบื้องต้นในเรื่องความแตกต่างระหว่าง สตาร์ทอัพ และ เอสเอ็มอี เรื่องกฎหมายการจ้างงาน อย่างการจ้าง Outsource สัญญาจ้างงาน NDA และ NCA กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (IP) การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ว่าควรจดทรัพย์สินทางปัญญาอะไรบ้าง และถ้าถูกละเมิดต้องทำอย่างไร และเรื่องกฎหมายธุรกิจ Startup

นอกจากนี้เมื่อธุรกิจเริ่มเติบโตขึ้นและเริ่มมีแผนธุรกิจที่เข้าที่เข้าทางแล้ว สตาร์ทอัพก็ต้องเริ่มหาเงินทุน ทั้งในรูปแบบของนักลงทุน (VC) หรือระดมทุนแบบ Crowdfunding ซึ่งสตาร์ทอัพจะต้องมีความเข้าใจเรื่อง Term Sheet ที่นักลงทุนมอบให้เพื่อทำสัญญาเข้าร่วมทุนกันต่อไป 

กฎหมาย startup เบื้องต้นสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพในไทยที่ควรเริ่มลงมือทำตั้งแต่เริ่มธุรกิจ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่

ส่วนที่ 1 การทำ Regulatory Sandbox

การลงนามความร่วมมือกับ 30 องค์กร เพื่อยกระดับในหลายๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง ธุรกิจด้านการเงินอย่าง FinTech ประเด็นเรื่องการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยการทำ Regulatory Sandbox จะทำให้เราได้มีโอกาสทดลอง Business Model ใหม่ๆ ที่กฎหมายยังครอบคลุมไม่ทั่วถึง เพื่อก่อให้เกิดโอกาสในการพัฒนาสาขาธุรกิจใหม่ๆ รวมไปถึงนวัตกรรมของประเทศ

ส่วนที่ 2 เร่งร่าง พ.ร.บ. วิสาหกิจเริ่มต้น

โดยในหลายๆ ประเทศ อย่าง อิตาลี ฟิลิปินส์ อินเดีย ต่างก็มีกฎหมายเฉพาะสำหรับ สตาร์ทอัพ โดยกฎหมายเฉพาะนี้จะเป็นตัวช่วยเร่งการเติบโตของระบบนิเวศของสตาร์ทอัพให้เปิดกว้างและเปลี่ยนแปลงได้ และทำให้ประเทศไทยนั้นมีความสามารถที่จะแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้

*ข้อมูลจาก Startup Thailand 101*

กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา คือ กฎหมายที่สตาร์ทอัพจำเป็นต้องรู้เป็นอย่างมาก ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันทีโดยไม่ต้องจดทะเบียน ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติหลังจากที่สร้างสรรค์งานขึ้นมา แต่เครื่องหมายการค้าต้องไปจดทะเบียนเพื่อป้องกัน กรณีที่เป็นผู้สร้างสรรค์ร่วมกัน อย่าง Co-Fouder แล้ววันหนึ่งเกิดต้องแยกย้ายไม่ได้ทำธุรกิจด้วยกัน การจะถือว่าได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้น ไม่ใช่แค่เสนอความคิด หรือพูดลอยๆ ออกมา แต่ต้องมั่นใจและมีการพิสูจน์ได้ว่า สามารถ Contribute เข้ามาให้เกิดงานจริงๆ แต่ก็เป็นไปได้ว่าในบางครั้งก็ทำสัญญาที่ชัดเจนไปเลยแต่วันแรก ว่าจะทำงานชิ้นนั้น ชิ้นนี้ร่วมกัน แต่ถ้าเป็นกรณีลูกจ้าง หรือจ้าง Programmer ให้ทำสัญญาจ้างให้ชัดเจน ว่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวเป็นของบริษัท ไม่มีสิทธ์นำไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ เด็ดขาด

แล้วถ้ามีคนลอกเลียนแบบถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ?

ด้วยรูปแบบธุรกิจสตาร์ทอัพที่เน้นใช้แนวความคิดเป็นจุดตั้งต้น โดยกฎหมายลิขสิทธิ์จะไม่ได้คุ้มครองความคิด รวมไปถึงทฤษฎี วิธีการ และขั้นตอนต่างๆ ส่วนเครื่องหมายการค้า (Trademark) คือ เครื่องหมายที่ใช้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องผลิตภัณฑ์ให้เสร็จ แต่บริษัท Startup สามารถไปจดทะเบียนไว้ก่อนได้ เพื่อป้องกันปัญหาคนลอกเลียนแบบ จากนั้นค่อยผลิตผลงานออกมาก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่าผลผลิตนั้นจะสามารถผลิตได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นจะโดนโต้แย้งและแจ้งขอเพิกถอนได้เช่นกัน

สุดท้ายนี้แม้ว่าสตาร์ทอัพเป็นบริษัทที่ใช้คนไม่มากนักในการดำเนินงานตอนเริ่มต้น แต่หากมีลูกจ้างมากกว่า 1 คน ก็ถือว่าต้องพิจารณากฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว เช่น เรื่องสิทธิของลูกจ้างตามกฎหมาย เรื่องเวลาการทำงาน วันหยุด หรือค่าตอบแทน หรือถ้าทำธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคค่อนข้างมากก็จะต้องมีการควบคุมพอสมควร นอกจากนี้ยังต้องศึกษากฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรด้วย เพราะขึ้นชื่อว่ากฎหมายก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่ควรศึกษา โดยเฉพาะ Tech Startup ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้วยแล้ว ยิ่งต้องศึกษา กฎหมาย Startup ให้รอบคอบ เพราะอาจจะเป็นธุรกิจที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ และเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจ Startup นั่นเอง

บทความโดย
AIS The StartUp