Header Background

5P กฎหมายที่ควรรู้สำหรับผู้ประกอบที่ต้องรู้ - Startup Thailand

22 มิ.ย. 2566
5P กฎหมายที่ควรรู้สำหรับผู้ประกอบที่ต้องรู้ - Startup Thailand

5P กฎหมายที่ควรรู้สำหรับผู้ประกอบการ!!

การทำธุรกิจของ Startup หรือผู้ประกอบการ SME ล้วนมีปัจจัยหลากหลายเพื่อให้การ ประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จ “ปัจจัยด้านกฎหมาย” ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการ ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และเพื่อให้สามารถวางแผน กลยุทธในการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งคุณรับขวัญ ชลดำรงค์กุล อุปนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย ได้สรุปเรื่อง “กฎหมาย” ที่ผู้ประกอบธุรกิจควรรู้ โดยแบ่งเป็น 5 หัวข้อหลักๆ ตามหลักการ 5P ได้แก่ P-Presence / P-Partner / P-Product / P-People และ P-Public ดังนี้


P-PRESENCE กฎหมายการตั้งและบริหารบริษัท - Startup Thailand

P-Presence กฎหมายการตั้งและบริหารบริษัท

ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดตั้งบริษัท และการจัดทำเอกสารบริษัทให้ถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้หัวข้อย่อยของเรื่องควรรู้เกี่ยวกับกฎหมาย การตั้งบริษัทมี ดังนี้

  • ผู้ถือหุ้น และกรรมการ ในการตั้งและดำเนินบริษัทในปัจจุบัน ทุกบริษัทต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 คน โดยผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของบริษัท และบรรดาผู้ถือหุ้นจะตกลงแต่งตั้ง “กรรมการ” เป็นตัวแทนของบริษัทในการจัดการทำสัญญาต่างๆ ทั้งนี้ในกรณีของผู้ถือหุ้นต่างประเทศ บริษัทต้องตรวจสอบความจำเป็นในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจคนต่างด้าว (FBL) ด้วย
  • ทุนจดทะเบียนและหุ้น ทุกบริษัทต้องกำหนดทุนจดทะเบียน ซึ่งทุนจดทะเบียนขั้นต่ำอาจขึ้นกับ (1) ประเภทธุรกิจ (2) การถือหุ้นโดยต่างชาติหรือการว่าจ้างแรงงานต่างชาติ หรือ (3) ความน่าเชื่อถือของบริษัทเพื่อแสดงทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท
  • วัตถุประสงค์บริษัท ต้องกำหนดขอบเขตวัตถุประสงค์และประเภทธุรกิจให้ชัดเจน และครอบคลุมทุกการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้บริษัทมีอำนาจดำเนินการ
  • เอกสารบริษัท เป็นเอกสารที่บริษัทต้องเก็บรักษาไว้ภายในบริษัทให้ครบถ้วน โดยเฉพาะ (1) เอกสารที่บริษัทต้องจัดทำยืนยันความเป็นผู้ถือหุ้น ได้แก่ ใบหุ้นที่ต้องออกให้แก่ผู้ถือหุ้นแต่ละคน และสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นที่ต้องบันทึกทุกการเข้าหรือออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น และ (2) เอกสารบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นและกรรมการ เพื่อบันทึกการตัดสินใจต่างๆ ของบริษัท และบางการตัดสินใจของบริษัทอาจต้องนำไปจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดด้วยเช่นกัน

P-PARTNER กฎหมายผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน - Startup Thailand

P-Partner กฎหมายผู้ถือหุ้น – ผู้ลงทุน

ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องและควรรู้เพื่อการ กำหนดสิทธิ-หน้าที่ และความคาดหวังระหว่าง ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน

  • สิทธิผู้ถือหุ้น ตามกฎหมาย ผู้ถือหุ้นสามารถ (1) ออกเสียง (2) ได้ผลตอบแทน (3) ตรวจสอบการทำงานได้ และอาจมีการกำหนดสิทธิเพิ่มเติมได้ภายใต้ “สัญญาผู้ถือหุ้น”
    • การออกเสียง กรณีทั่วไปต้องใช้คะแนนเสียงมากกว่า 50% แต่หากเป็นเรื่อง สำคัญเกี่ยวกับบริษัท กฎหมายกำหนดให้ต้องใช้คะแนน เสียงมากกว่า 75%
    • ประเภทหุ้นตามกฎหมาย แบ่งออกเป็น (1) หุ้นสามัญ เป็นหุ้นที่ไม่ได้มีการ กำหนดสิทธิใดพิเศษไว้ และ (2) หุ้นบุริมสิทธิ์ที่อาจมีการกำหนดสิทธิใด เป็นการเฉพาะไว้ ไม่ว่าจะดีกว่าหรือแย่กว่าหุ้นสามัญ โดยต้องมีการจดทะเบียน สิทธิที่แตกต่างดังกล่าวไว้ใน ข้อบังคับของบริษัท
  • สัญญาผู้ถือหุ้น มีผลผูกพันคู่สัญญา จึงควรตกลงกันให้ครบทุกเงื่อนไข โดยผู้ถือหุ้นทั้งหมดควรตกลงกันชัดเจนถึงเงื่อนไขและการดำเนินการที่จะเกิดขึ้นในกรณี best case scenario (IPO / Exit) หรือ worst case scenario (เช่น การทะเลาะกัน การที่ผู้ถือหุ้นบางส่วนไม่ทำหน้าที่ของตนให้ครบถ้วน)
  • การระดมทุนโดยผู้ลงทุน โดยหลัก บริษัทจำกัดไม่สามารถระดมทุนจากบุคคลเป็นการทั่วไป ซึ่งจะต่างจากการเสนอขายหุ้นของบริษัทมหาบชน แต่โดยหลักการระดมทุนเข้าบริษัทอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
    • การระดมทุนด้วยหุ้น (Equity) ซึ่งผู้ลงทุนจะกลายเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของ
    • การระดมทุนด้วยหนี้ (Debt) ซึ่งโดยหลักด้วยการกู้ยืม แต่หากบริษัทจะออกหุ้นกู้ต้องมีกระบวนการขออนุญาตหรือต้องดำเนินตามกลไกที่กำหนดไว้โดยสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ต้องได้ดอกเบี้ยและต้องได้รับเงินคืน
    • การระดมทุนด้วยการออก Token ซึ่งผู้ถือโทเคนดิจิทัลจะมีสิทธิตามที่บริษัทกำหนดไว้ใน Whitepaper แต่การดำเนินการออกโทเคนดิจิทัลต้องทำตามกลไกของ สำนักงาน ก.ล.ต.
    • นอกจากนี้อาจมีบางส่วนที่เป็นการระดมทุนแบบ Hybrid เช่น Convertible Debt (ซึ่งให้สิทธิเจ้าหนี้มาเป็นผู้ถือหุ้น)

P-PRODUCT กฎหมายการพัฒนาและขายผลิตภัณฑ์ - Startup Thailand

P-Product กฎหมายการพัฒนาและขายผลิตภัณฑ์

ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าและบริการที่ บริษัทได้พัฒนาและเสนอขาย โดยมีประเด็น ที่ต้องพิจารณาแยกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ

  • Compliance การตรวจสอบความถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย ในการพัฒนาและขายสินค้าหรือบริการของบริษัท ซึ่งรวมถึง (1) การตรวจสอบความจำเป็นในการ ขอใบอนุญาตที่จำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงการโดน ปรับหรือการลงโทษจากการดำเนินธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต (2) การตรวจสอบความรับผิดที่อาจขึ้นจากการออกผลิตภัณฑ์ ภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายข้อสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นต้น
  • Protection ในทุกสินค้าและบริการของบริษัทย่อมมีทรัพย์สินทางปัญญาที่บริษัทควรต้องปกป้องให้ถูกต้อง โดยบริษัทต้องเข้าใจประเภทและกระบวนการในการปกป้องทรัพย์สิน ทางปัญญาให้ถูกต้องตามประเภท
    • โดยสรุปทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย แบ่งเป็น (1) ลิขสิทธิ์ (ได้รับสิทธิโดยไม่ต้องจดทะเบียน) (2) สิทธิบัตร (ต้องจดทะเบียน) (3) เครื่องหมายการค้า (จดหรือไม่จดทะเบียนก็ได้แต่ได้รับการคุ้มครองที่แตกต่างกัน) และความลับทางการค้า (ไม่ต้องจดทะเบียนแต่ต้องมีมาตรการคุ้มครอง)
    • การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการสร้างมูลค่าให้แก่ บริษัท และสามารถใช้ในการวางกลยุทธ์การทำการตลาดโดยเฉพาะในต่างประเทศได้ด้วย เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อจดทะเบียนย่อมคุ้มครองเฉพาะประเทศ ที่จดทะเบียน
  • Commercialize ในการขายสินค้าและบริการ การจัดทำสัญญาหรือข้อตกลงการขายสินค้าหรือบริการดังกล่าวกับลูกค้าเป็นส่วนสำคัญ เพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิ-หน้าที่ระหว่างบริษัทและลูกค้า โดยเฉพาะกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบที่บริษัทมีต่อลูกค้า
    • สัญญาควรทำเป็นหนังสือ ซึ่งอาจจัดทำเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ตามนิยามแล้ว Quotation / Proposal ก็เป็นสัญญาประเภทหนึ่งเช่นกัน และคู่สัญญาสามารถตกลงเงื่อนไขเฉพาะ ได้ตามความต้องการของทั้งสองฝ่ายภายใต้กรอบที่การตกลงดังกล่าวต้องไม่ขัดกฎหมายความสงบเรียบร้อย
    • สัญญาบางประเภท เช่น จ้างทำของ กู้ยืม ค้ำประกัน ต้องติดอากรแสตมป์เพื่อ ให้ใช้เป็นหลักฐานการฟ้องคดีได้

P-PEOPLE กฎหมายบริหารจัดการบุคคลากร - Startup Thailand

P-People กฎหมายบริหารจัดการบุคลากร

ซึ่งโดยหลักการจ้างแรงงานอาจแบ่งเป็น การจ้างแบบ Outsource และการจ้างแรงงาน

  • การจ้างแรงงานมีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะ -> กำหนดเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ ได้แก่ พรบ. คุ้มครองแรงงาน ซึ่งสัญญาจ้างแรงงานต้องตกลงให้ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ไว้ตามกฎหมายดังกล่าว โดยตกลงให้ดีขึ้นได้
    • ระยะเวลาทำงาน 8 ชม/วัน หรือ 48 ชม/สัปดาห์ + พัก 1 ชม/วัน และ 1 วัน/อาทิตย์
    • ทำงานล่วงเวลาให้ค่าตอบแทนตามอัตรา (1 เท่าล่วงเวลาวันทำงาน / 1.5 เท่าทำงานวันหยุด 3 เท่าทำงานล่วงเวลาวันหยุด)
    • ลาป่วย ลากิจ วันหยุดประเพณี 13 วัน/ปี + ลาพัก 6 วันหากทำงานครบ 1 ปี
    • เลิกจ้าง เว้นเป็นความผิดลูกจ้าง / การเลิกจ้างมีกำหนดระยะเวลา / ลูกจ้างลาออก -> ต้องจ่ายค่าชดเชย หากลูกจ้างทำงานเกิน 120 วัน (รวมทดลองงาน)

P-PUBLIC กฎหมายที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตาม - Startup Thailand

P-Public กฎหมายที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตาม

เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกบังคับมาตรการ ลงโทษ และเพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนหรือคู่ค้า จะมีในการร่วมงานกับบริษัท

  • ภาษี
    • ภาษีนิติบุคคล เป็นภาษีทางตรง โดยกรณี SME เสียภาษีอัตราก้าวหน้าสูงสุด 20% เสียภาษี 2 ครั้ง/ปี
    • ภาษีบุคคลธรรมดา เป็นภาษีทางตรงสำหรับรายได้ของผู้ถือหุ้น เสียภาษีตามอัตราก้าวหน้า สูงสุด 35% และสำหรับรายได้บางอย่างที่ได้รับจากบริษัท บริษัทอาจต้องดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับรายได้บางส่วน เช่น การรับปันผล (10%) Capital Gain Tax (15% เว้นได้รับการยกเว้น จากการขึ้นทะเบียนรับรองบริษัทเป้าหมายและผู้ถือหุ้นดังกล่าวถือหุ้นเกิน 24 เดือน)
    • ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีทางอ้อมที่เก็บจากผู้บริโภคในอัตรา 7% เสียภาษีทุกเดือน (ภาษีซื้อ - ภาษีขาย) โดยผู้ประกอบธุรกิจจะมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะเมื่อผู้ประกอบการมี gross revenue 1.8 MTHB ขึ้นไปหรือจดทะเบียนโดยสมัครใจ
    • ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีที่เก็บสำหรับบางธุรกรรม เช่น การขายอสังหาริมทรัพย์
    • ภาษีทรัพย์สิน เป็นภาษีที่ท้องถิ่นเก็บสำหรับการถือครองทรัพย์สิน เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีป้ายสำหรับการโฆษณา
  • PDPA พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคคล
    • ใช้บังคับสำหรับการประมวผลข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งหมายถึง ข้อมูลใดก็ตามที่สามารถเชื่อมโยงระบุตัวบุคคลธรรมดาคนๆหนึ่งได้ เช่น ภาพถ่าย ชื่อนามสกุล Username Password พฤติกรรมการใช้งาน Application
    • ใช้บังคับการผู้ประกอบธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของคนสัญชาติใด แต่หากเป็นการประมวลผลข้อมูลบุคคลสัญชาติยุโรป ผุ้ประกอบการต้องให้ความสนใจปฏิบัติตาม GDPR ซึ่งเป็นกฎหมายยุโรปด้วย
    • กฎหมายไม่ได้ห้ามการใช้ข้อมูล แต่หากจะมีการใช้ต้องปฏิบัติตามหลักการ 4 ข้อ (1) การประเมินและอธิบายเหตุผลความจำเป็นในการประมวลผลข้อมูล ส่วนบุคคล (Necessity) (2) ต้องมีการแจ้งให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ เกี่ยวข้องทราบและบางกรณีอาจต้องมีการขอความยินยอม (No Surprise) (3) ดำเนินมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกเข้าถึง โดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินการแจ้งเหตุการณ์ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจ เกิดขึ้น (Keep it Safe) และ (4) เคารพสิทธิที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอาจมีใน ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง (Respect the Rights)

รับขวัญ ชลดำรงค์กุล, LawXTech และอุปนายกสมาคมสตาร์ทอัพไทย


Footer