Header Background

รูปแบบการสนับสนุน Startup
ที่มีมากกว่าแค่การร่วมทุน

5 ตุลาคม 2560
องค์กรใหญ่ ๆ สามารสนับสนุน StartUp Thailand ได้มากกว่าการร่วมลงทุน

ช่วงปี 2011 – 2013 บริษัทในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลไทย โดย เป็นผู้นำลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและผลักดันบริษัทเทคโนโลยีตั้งใหม่อย่าง Startup เพื่อสร้างฟันใหม่ๆ ให้กับ เศรษฐกิจในอนาคตของไทย เวลาผ่านเพียง 4-5 ปี เราเห็นว่าทุกวันนี้มีองค์กรขนาดใหญ่จากเกือบทุกอุตสาหกรรมเล็งเห็นความ สำคัญในสิ่งเดียวกัน และตื่นตัวมาให้การสนับสนุนบริษัท Startup กันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเงินและการลงทุน อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย

วิธีการสนับสนุน Startup ขององค์กรใหญ่ที่ค่อนข้างคุ้นชินและเห็นตามหน้าสื่อเป็นอยู่ประจำคือ การลงทุนเพื่อแลกกับหุ้น ในบริษัทของ Startup เช่น InVent จาก Intouch, AddVentures จาก SCG, และ Beacon Venture จากธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น แต่จริงๆ แล้วนอกจากการสนับสนุนด้านการลงทุน องค์กรใหญ่ยังมีศักยภาพภายในอย่างอื่นที่มากกว่าเม็ดเงิน และสามารถใช้ ศักยภาพเหล่านั้นมาสนับสนุนบริษัท Startup ได้อีกในหลากหลายมิติ ดังนี้

องค์กรต่าง ๆ สามารถสนับสนุน StartUp Thailand ได้หลายด้าน
การสนับสนุนด้วยการเปิดบริการ Open Technology

โครงสร้างด้านเทคโนโลยีขององค์กรขนาดใหญ่มักมีความซับซ้อนและเป็นโครงสร้างแบบปิด การที่เทคโนโลยีภายนอกจะมา เชื่อมต่อกับโครงสร้างภายในองค์กรมักจะไม่สามารถทำได้โดยทันที มีความยุ่งยากด้วยติดข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ด้านความ ปลอดภัยของข้อมูล หรือ ข้อจำกัดด้านกฎเกณฑ์ในการตกลงร่วมมือเป็นพันธมิตรทางการค้า เป็นต้น การจะนำเทคโนโลยีภายนอก และภายในมาเชื่อมต่อกันแต่ละครั้งต้องทำการขออนุญาตและอนุมัติเป็นรายครั้ง การพิจารณาอาจใช้เวลานาน ซึ่งกระบวนการ แบบนี้ไม่เหมาะกับคุณลักษณะของบริษัท Startup ที่ต้องการความรวดเร็ว

ในต่างประเทศ องค์กรใหญ่หลายแห่งลงทุนสร้างระบบเทคโนโลยีเปิด (Open Technology) ที่เชื่อมต่อได้แบบอัตโนมัติบน ออนไลน์ ทำให้เทคโนโลยีจาก 2 ระบบเชื่อมต่อได้โดยทันที

เทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับสินค้าของ Startup ให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ก้าวหน้ามากขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีขององค์กรใหญ่เป็นส่วนประกอบ นำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของฐานลูกค้าร่วม

AIS เล็งเห็นถึงประโยชน์ของ Open Technology ที่จะทำให้ระบบนิเวศธุรกิจในไทยเติบโตได้ในอนาคต เราจึงเปิดโอกาสให้ นักพัฒนาสามารถดาวน์โหลด Open APIs ได้บนออนไลน์โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ นักพัฒนาและ Startup จากทุกมุมโลก ซึ่งสามารถดาวน์โหลด AIS Open APIs ได้ที่ www.ais.th/thestartup

การสนับสนุนด้วยการสร้างพันธมิตรทางการค้าร่วมกับบริษัท Startup

หนึ่งในข้อจำกัดของบริษัท Startup คือ ความสามารถที่จะเข้าถึงฐานลูกค้าและสร้างปฏิสัมพันธ์กับตลาด (Market Interaction) องค์กรใหญ่ที่สร้างธุรกิจแบบครบวงจรเพียงผู้เดียวนำมาซึ่งการผูกขาดทางการตลาดและทำให้ระบบนิเวศ ทางเศรษฐกิจไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างสมบูรณ์ ในขณะเดียวกัน มีหลายองค์กรที่มีความเชื่อมั่นในพลังของระบบ นิเวศเศรษฐกิจ สร้างนโยบายเพื่อเชื่อมโยงพันธมิตรเข้ากับฐานลูกค้า นโยบายนี้เปิดโอกาสให้กับบริษัทขนาดเล็กที่มีสินค้าและ บริการที่สอดคล้องกับแผนธุรกิจขององค์มาร่วมกันรังสรรค์กิจกรรมเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับตลาดและลูกค้าด้วยกัน

สูตรคณิตศาสตร์ 1 บวก 1 มีค่าเท่ากับสองเสมอ แต่การสร้างพันธมิตรทางการค้าของ StartUp Thailand ไม่ได้มีสูตรที่ให้ผลลัพธ์ที่ตายตัว

การที่องค์กรใหญ่หนึ่งองค์กรร่วมกับบริษัทเล็กอย่าง Startup อาจจะสร้างผลลัพธ์ทางการตลาดที่ยิ่งใหญ่เป็นร้อยหรือ เป็นพันเท่า และในความเป็นจริง รูปแบบการสร้างพันธมิตร สามารถทำได้มากกว่าแค่การจับคู่ 1 องค์กรใหญ่ กับ 1 บริษัท Startup แต่สามารถขยายขอบเขตเป็นความร่วมมือแบบพหุภาคีที่มีหลายๆ ภาคส่วนมาร่วมกัน

AIS เรามีจุดยืนด้านการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจมาอย่างยาวนาว เช่น ในปี 2559 AIS ร่วมมือกับ จส. 100 และ Dreamaker (www.dreamaker.co.th) หนึ่งในครอบครัว AIS The StartUp เพื่อจัดตั้งโครงการปันฝัน (www.punfun.org) เปิดระดมทุนบนโลกออนไลน์เพื่อรับบริจาคเงินในการจัดซื้อรถเข็ญสำหรับผู้ยากไร้ และในปี 2560 2 องค์กรใหญ่อย่าง AIS และ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับ สองบริษัท Startup ได้แก่ Foodstroy และ Flowaccount เปิดบริการ Food Solution ร่วมกัน ซึ่งเป็น ระบบการบริหารจัดการร้านอาหารแบบครบวงจรครั้งแรกในไทย

การสนับสนุนด้วยการเป็นลูกค้า ซื้อสินค้าและบริการจากบริษัท startup

อีกหนึ่งข้อจำกัดของบริษัท Startup คือ การขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้บริษัท Startup นิยมระดมทุนโดยแลกกับ หุ้นของบริษัท แต่จริงๆ แล้ว

เงินทุนที่ดีที่สุดของ Startup มาจากลูกค้า ที่ซื้อสินค้าและบริการ นักลงทุนเมื่อให้เงินกับ Startup ไปแล้ว สิ่งที่เขาหวังกลับมา คือ การได้เงินก้อนนั้นคืนพร้อมกับกำไร หลังจากที่ขายหุ้นในอนาคต แต่ลูกค้าเมื่อให้เงินกับ Startup แล้ว ความคาดหวังของเขา คือ บริการที่ดี โดยไม่คิดว่าต้องการเงินคืนจาก Startup

องค์กรขนาดใหญ่สามารถสร้างที่มาของเงินทุนให้กับ Startup ได้อย่างต่อเนื่องด้วยการเป็นลูกค้า ซื้อบริการจาก Startup มาใช้ในกิจกรรมขององค์กร และเหนือกว่าเรื่องเงิน ข้อดีของการที่ Startup ได้องค์กรขนาดใหญ่เป็นลูกค้าคือ การสร้างโอกาส เรียนรู้การทำงานแบบมืออาชีพจากองค์กร

AIS มีรูปแบบการสนับสนุน Startup Thailand ในลักษณะนี้เช่นกัน อาทิเช่น ZipEvent เป็นบริษัท Startup สัญชาติไทยชั้นนำด้าน การบริหารจัดการ Event ได้รับโอกาสจาก AIS D.C. แหล่งชุมชนของคนสร้างสรรค์ ให้มาดูแลระบบจัดการกิจกรรมของ AIS D.C. และ AIS ยังคงเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ผู้สนใจสามารถส่งผลงานผ่าน www.ais.th/thestartup ตลอดเวลา

บทความโดย ดร. ศรีหทัย พราหมณี
Head of AIS The StartUp